posttoday

สภานายจ้างฯเผยภาคธุรกิจหันใช้"หุ่นยนต์"แทนบัณฑิตจบใหม่

31 กรกฎาคม 2561

สภานายจ้างฯ ส่งสัญญาณแรงงานจบใหม่ เสี่ยงหางานยาก เหตุธุรกิจทั้งรายใหญ่และเล็กหันใช้เทคโนโลยีแทนแรงงานคน

สภานายจ้างฯ ส่งสัญญาณแรงงานจบใหม่ เสี่ยงหางานยาก เหตุธุรกิจทั้งรายใหญ่และเล็กหันใช้เทคโนโลยีแทนแรงงานคน

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าอุตสาหกรรมไทย ในฐานะรองประธานสภาที่ปรึกษาแรงงานแห่งชาติ เปิดเผยว่า อนุกรรมการศึกษาผลกระทบเทคโนโลยีที่จะมีผลต่อแรงงานไทยในปัจจุบันและอนาคต ที่ตนเป็นประธานนั้น อยู่ระหว่างรวบรวมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อประเมินผลกระทบ และคาดว่าจะแล้วเสร็จกลางเดือน ส.ค.นี้ เพื่อที่จะชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มและมาตรการรับมือต่อไป

ทั้งนี้ จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นพบว่าภาคธุรกิจอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนด้วยการนำเทคโนโลยี ระบบหุ่นยนต์ แขนกล ระบบอัตโนมัติมาใช้ในภาคการผลิตและบริการเพื่อทดแทนแรงงาน โดยจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในอนาคต โดยเฉพาะการว่างงานในกลุ่มผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจะมีมากขึ้น

นายธนิต กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ที่จบการศึกษาที่เข้าสู่ตลาดแรงงานตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาจนถึงระดับปริญญาตรีในปี 2560 มีทั้งหมด 6.4 แสนคน โดยเป็นผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี 3.4 แสนคน และจบในสาขาที่ตลาดแรงงานมีความต้องการน้อย ดังนั้นหากไทยไม่ปรับตัว โดยเฉพาะภาคการศึกษาอาจจะประสบปัญหามากขึ้นในระยะยาว

แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับกระทรวงแรงงาน ยอมรับว่าผู้สำเร็จการศึกษาในปี 2560 มีจำนวน 2.19 ล้านคน เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีประมาณ 3.2 แสนคน และคาดว่าจะมีผู้สำเร็จการศึกษาปี 2561 จำนวน 1.82 ล้านคน ปี 2562 จำนวน 1.67 ล้านคน และปี 2563 จำนวน 1.8 ล้านคน

“ผลสำรวจเดือน พ.ค. 2561 พบว่ามีผู้ว่างงาน 4.02 แสนคน คิดเป็น 1% ของอัตราการว่างงาน โดยผู้ที่จบปริญญาตรีมีการว่างงานมากสุดกว่า 1.7 แสนคน ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ร่วมมือกับเอกชนแก้ไขปัญหาการว่างงานของผู้ที่จบปริญญาตรีระยะเร่งด่วนที่จะหางานรองรับให้บัณฑิตจบใหม่ประมาณ 1 แสนคนมีงานทำ” แหล่งข่าวเปิดเผย

ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ