posttoday

ชาย VS หญิง ผู้บริหารอี-คอมเมิร์ซ

27 กรกฎาคม 2561

ปัจจุบันเพศหญิงและเพศชายมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ประกอบกับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในไทยส่วนใหญ่จะทำการตลาดในต่างประเทศด้วย

โดย...ขนิษฐา สาสะกุล ไอไพรซ์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจอี-คอมเมิร์ซกำลังได้รับความนิยมในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมาก แต่จะรุ่งหรือร่วงนอกจากรูปแบบการบริการที่จับกลุ่มลูกค้าได้อยู่หมัดแล้ว การบริหารงานภายในก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ยิ่งมีผู้บริหารวิสัยทัศน์กว้างไกล ยิ่งเปิดศึกงัดข้อกับคู่แข่งได้ยาวนานเท่านั้น

ปัจจุบันเพศหญิงและเพศชายมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ประกอบกับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในไทยส่วนใหญ่จะทำการตลาดในต่างประเทศด้วย ไอไพรซ์ (iPrice) ได้ศึกษาข้อมูลโดยการวิเคราะห์ความหลากหลายทางเพศของผู้บริหารในร้านค้าอี-คอมเมิร์ซไทย พบข้อมูลที่น่าสนใจ คือ เพศชายเป็นผู้บริหารระดับสูงของร้านค้าอี-คอมเมิร์ซในไทยมากกว่า แต่ที่เหนือความคาดหมายเห็นจะเป็นเปอร์เซ็นต์ความแตกต่างทางเพศที่ไม่ทิ้งห่างกันเท่าไหร่ โดยเพศชาย 60% ในขณะที่เพศหญิงมี 40%

เมื่อนำข้อมูลการวิเคราะห์ความแตกต่างทางเพศของผู้บริหารระดับสูงในร้านค้าอี-คอมเมิร์ซไทยมาจำแนกเป็น 3 ระดับ คือ C-Levels, VP และ Head พบว่า ความแตกต่างทางเพศในแต่ละระดับผู้บริหารมีความแตกต่างกันออกไป ดังนี้ ระดับ C-Levels เช่น SVP, Founders, Co-founders, C-Levels และกรรมการผู้จัดการ มีเปอร์เซ็นต์ความ แตกต่างทางเพศอยู่ที่ ชาย 56% หญิง 44% ซึ่งถือว่าค่อนข้างใกล้เคียงกัน

ต่อมาคือระดับ VP ที่เพศหญิงครองตำแหน่ง 1:3 ของข้อมูลทั้งหมด หรือเพศหญิง 34% ต่อเพศชาย 66% สุดท้ายคือระดับ Head ที่ถือเป็นระดับที่เก็บข้อมูลได้มากที่สุด เพราะแผนกและแผนผังการบริหารที่มีแยกย่อยมากมาย อาทิ Head of department และ Directors เป็นต้น ในส่วนนี้ความแตกต่างทางเพศที่ได้เกือบครึ่งต่อครึ่ง เพศชาย 59% และเพศหญิง 41%

ขณะเดียวกัน เนื่องจากธุรกิจอี-คอมเมิร์ซส่วนใหญ่มักทำการตลาดในหลายๆ ประเทศ ผู้บริหารชาวต่างชาติจึงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ด้านแนวคิดการบริหารที่หลากหลาย โดยพบว่าในผู้บริหารระดับสูงของร้านค้าอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทยถูกแบ่งออกเป็น ผู้บริหารชาวต่างชาติ 33% ขณะที่ผู้บริหารชาวไทยมี 67%

หากนำข้อมูลที่ได้มาจำแนกออกเป็นความแตกต่างทางเพศและเชื้อชาติ ผลลัพธ์ที่ได้คือ ผู้บริหารชาวไทยมีเพศหญิงนั่งเก้าอี้มากกว่าเพศชายที่ 51% ต่อ 49% ขณะที่ผู้บริหารชาวต่างชาติมีจำนวนเพศชายมากถึง 82% ต่อ 18%

จากข้อมูลดังกล่าว สะท้อนได้ว่า เกณฑ์การคัดเลือกผู้บริหารระดับสูงของร้านค้าอี-คอมเมิร์ซในไทยจะเน้นเรื่องความสามารถเป็นหลัก โดยคำนึงถึงความแตกต่างทางเพศเป็นส่วนน้อย

เมื่อนำข้อมูลที่ได้มาจำแนกออกเป็น 3 ประเภทธุรกิจ ได้แก่ แฟชั่น อิเล็กทรอนิกส์ และทั่วไป จะเห็นได้ว่าการเพิ่มขึ้นของร้านค้าอี-คอมเมิร์ซที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้หญิงอย่างประเภทแฟชั่น ทำให้ผู้บริหารระดับสูงต้องการแนวคิดของเพศหญิง โดยมีความแตกต่างทางเพศอยู่ที่หญิง 60% ต่อ ชาย 40%

ขณะที่ร้านค้าอี-คอมเมิร์ซประเภทอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นเพศชาย ทำให้อัตราส่วนผู้บริหารเพศชายมีจำนวนมากกว่าเพศหญิงถึง 2 ใน 3 หรือ 70% ต่อ 30%  สุดท้ายคือร้านค้าอี-คอมเมิร์ซทั่วไปที่ยังคงกุมพื้นที่ทางการตลาดอี-คอมเมิร์ซไทยมากที่สุด จากข้อมูลที่ได้พบว่ามีผู้บริหารระดับสูงเป็นเพศชายที่ 61% และเพศหญิง 39%