posttoday

รัฐบาลสั่งชะลอแผนท่าเรือปากบาราหลังถูกต้านหนัก

18 กรกฎาคม 2561

รัฐบาลไฟเขียวพับแผนท่าเรือน้ำลึกปากบารา-ท่าเรือสงขลา หลังถูกต่อต้านหนักไม่อยากสร้างความขัดแย้ง หวั่นลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเหลวหากไม่กระตุ้นเศรษฐกิจส่งออก-นำเข้าสินค้า หวั่นมาเลเซียฮุบเค้กเกทเวย์ปีนัง-ช่องแคบมะละกา

รัฐบาลไฟเขียวพับแผนท่าเรือน้ำลึกปากบารา-ท่าเรือสงขลา หลังถูกต่อต้านหนักไม่อยากสร้างความขัดแย้ง หวั่นลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเหลวหากไม่กระตุ้นเศรษฐกิจส่งออก-นำเข้าสินค้า หวั่นมาเลเซียฮุบเค้กเกทเวย์ปีนัง-ช่องแคบมะละกา

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่ารัฐบาลได้ตัดสินใจสั่งชะลอโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราอย่างไม่มีกำหนด หลังจากที่นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคมเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงคมนาคมและกรมเจ้าท่า โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่วมกันว่าจะชะลอโครงการออกไปก่อนเพื่อลดความขัดแย้งภายในพื้นที่รวมถึงความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานภาครัฐเรื่องผลกระทบอุทยานแห่งชาติในพื้นที่ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบของโครงการนั้นถูกต่อต้านจากชาวบ้านท้องถิ่นและองค์กรอิสระ (NGO) จนไม่สามารถเปิดเวทีรับฟังความเห็นขอบเขตและแนวทางประเมินผลกระทบ หรือ ค.1 (Public Scoping) ทำให้ไม่สามารถเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปคือ การสำรวจความคิดเห็นประชาชนและจัดทำรายงาน หรือ ค.2 (Public Assessment) และ การรับฟังความคิดเห็นและทบทวนรายงาน หรือ ค.3 (Public Reviewing)จนไม่สามารถสรุปรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ได้อีกทั้งรัฐบาลยังต้องการให้ลดความขัดแย้งของผู้คนในพื้นที่อีกด้วย หลังจากนี้จท.จะเจราจากับบริษัทที่ปรึกษาเพื่อชำระค่าใช้จ่ายการศึกษาโครงการตามที่เกิดขึ้นจริง จากวงเงินเต็มอยู่ที่ 115 ล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่ารมช.คมนาคมได้สั่งการให้กรมเจ้าท่าไปจัดทำแผนพัฒนาท่าเรือน้ำลึกด้านฝั่งตะวันตกแทน ทว่าที่ผ่านมาได้ทำการศึกษามาหลายรอบแล้วโดยเฉพาะท่าเรือจังหวัดระนองฝั่งทะเลอันดามันนั้นไม่สามารถรองรับการขนส่งสินค้าได้เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องร่องน้ำที่ลึกเพียง 9 เมตร รองรับเรือบรรทุกขนาดใหญ่ไม่ได้แตกต่างจากปากบาราที่มีร่องน้ำลึกอย่างน้อย 14 เมตร ดังนั้นตนมองว่าแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศคงสูญเปล่าหากไม่สามารถผลักดันให้เกิดการพัฒนาการขนส่งสินค้าทางน้ำเนื่องจากมลค่าการนำเข้าและส่งออกเป็นหนึ่งในแกนลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย อีกทั้งสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ต้องพึ่งท่าเรือเป็นหลักเพื่อกระจายประเทศปลายทางทั่วโลก อย่างไรก็ตามด้านความคืบหน้าแผนพัฒนาท่าเรือน้ำลึกสงขลานั้นคงจะออกมาในรูปแบบเดียวกัน คือรัฐบาลจะสั่งให้ชะลอแผนออกไปอย่างไม่มีกำหนดเนื่องจากปัจจุบันยังไม่สามารถผ่าน ค.1 เพราะโดนต่อต้านจากคนในพื้นที่เช่นเดียวกับที่ปากบารา อีกทั้งยังมีการปลุกกระแสต่อต้านโรงไฟฟ้าที่กลัวว่าจะมาพร้อมกับท่าเรือน้ำลึกสงขลาอีกด้วย

ด้านรายงานข่าวจากกรมเจ้าท่า(จท.) ระบุว่า เส้นทางขนส่งแลนด์บริดจ์ท่าเรือสงขลา-ปากบารา-ปีนัง(มาเลเซีย)นั้นเป็นเกทเวย์ขนส่งสินค้าแทนที่ช่องแคบมะละกา กลุ่มชาติมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกจะได้รับผลประโยชน์ในด้านการประหยัดค่าใช้จ่ายจนสามารถแบ่งสัดส่วนปริมาณขนส่งสินค้าจากช่องแคบมะละกาได้จำนวนมากเพราะแลนด์บริดจ์ท่าเรือสงขลา-ท่าเรือปากบารามีระยะทางที่สั้นกว่าเส้นทางเดินเรือสิงคโปร์-ทะเลอินเดีย ดังนั้นหากโครงการดังกล่าวไม่เกิดมองว่าประเทศไทยจะเสียศักยภาพด้านการขนส่งสินค้าที่ต้องพึ่งท่าเรือปีนังเป็นหลักหรือมองในแง่ร้ายที่สุดหากมาเลเซียปิดด่านชายแดนการขนส่งสินค้าจากไทยจะไปสู่มหาสมุทรอินเดียได้อย่างไร นอกจากนี้มาเลเซียยังมีแผนเปิดเมืองปีนังเป็นเกทเวย์ขนส่งสินค้าของช่องแคบมะละกาพร้อมกับเสนอโครงการรถไฟทางคู่สงขลา—ปีนังให้รัฐบาลไทยพิจารณา หากสามารถทำได้ประเทศไทยจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เนื่องจากปัจจุบันเส้นทางการขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบมะละกาถือว่าเป็นเส้นทางเดินเรือที่มีการจราจรมากที่สุดในโลกด้วยจำนวนเรือราว 1 แสนลำต่อวัน จนทำให้จำนวนเรือในแต่ละปีที่ผ่านช่องแคบมะละกาคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของโลก