posttoday

อ้อนแก้เงื่อนไขชิงคลื่น900

18 กรกฎาคม 2561

ดีแทค ลุ้น กสทช.ออกประกาศแก้เงื่อนไขประมูลคลื่น 900 เล็งพิจารณาประมูลคลื่น 1800 ภายใต้เงื่อนไขใหม่

ดีแทค ลุ้น กสทช.ออกประกาศแก้เงื่อนไขประมูลคลื่น 900 เล็งพิจารณาประมูลคลื่น 1800 ภายใต้เงื่อนไขใหม่

นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค เปิดเผยว่า บริษัทได้ยื่นข้อเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไปแล้ว เพื่อให้การประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) มีความชัดเจนเกี่ยวกับเงื่อนไขในการอนุญาตข้อ 16 ข้อ 17 ข้อ 18 ซึ่งกำหนดให้ผู้ชนะการประมูล รับผิดชอบป้องกันปัญหารบกวนกันของคลื่นความถี่ และการรบกวนระบบอาณัติสัญญาณของระบบคมนาคมขนส่งทางรางทั้งหมดเพียงผู้เดียว

อย่างไรก็ดี การประมูลคลื่น 900 MHz ที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ทำให้การแก้ไขเป็นไปได้ยาก เบื้องต้น กสทช.ได้รับเรื่องของดีแทคเสนอเท่าที่ทำได้ ซึ่งมีแนวทางจะออกประกาศจากทาง กสทช.เพื่อให้ทางปฏิบัติสามารถดำเนินการได้ ลดความเสี่ยง สำหรับดีแทคการประมูลคลื่น 900 MHz จำนวน 5 MHz และคลื่น 1800 MHz ที่ได้รับเงื่อนไขใหม่การประมูลจำนวน 9 ใบ ขนาด 45 MHz กำลังพิจารณาจะเข้าร่วมประมูลหรือไม่

"หากดีแทคชนะการประมูลคลื่น 900 MHz ได้เสนอการเยียวยา 24 เดือน เพื่อติดตั้งสถานีฐานระหว่างมากกว่า 1.3 หมื่นสถานีฐานรองรับ แต่รายอื่นชนะการประมูล ดีแทคได้รับการเยียวยา 2 เดือน อย่างไรก็ดี บริษัทวางแผนจะขยายคลื่น 2100 MHz ติดตั้งสถานีฐานเพิ่ม 4,000 สถานีฐาน และคลื่น 2300 MHz จะขยาย 7,000 สถานีฐานในสิ้นปีนี้"

อย่างไรก็ดี ปัญหาการรบกวนระบบอาณัติสัญญาณของระบบคมนาคม อยากให้เป็นการลงทุนของโอเปอเรเตอร์ที่ ต่างคนต่างต้องลงทุนมากกว่าจะให้ผู้ชนะประมูลลงทุนเพียงรายเดียว ซึ่งจะมีภาระในการติดตั้งวงจรกรองสัญญาณ (Filter) ให้แก่ผู้รับใบอนุญาตรายเดิมที่ใช้คลื่นความถี่ย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์ และผู้ให้บริการระบบคมนาคมขนส่งทางรางจำนวน 4 โครงการ คาดว่ามีค่าใช้จ่ายสูงกว่าจำนวนเงินที่ กสทช.ลดราคาขั้นต่ำของการประมูลให้จำนวน 2,000 ล้านบาทมาก

ขณะที่ปัญหาในทางเทคนิคและทางปฏิบัติในการดำเนินการติดตั้งฟิลเตอร์ ให้ระบบคมนาคมขนส่งทางราง ซึ่ง ณ ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าเป็นระบบอะไร ส่วนเงื่อนไขในการอนุญาตข้อ 17 กสทช.สงวนสิทธิที่จะปรับเปลี่ยนการใช้คลื่นความถี่เป็นช่วง 885-890/930-935 MHz ในกรณีที่จำเป็น โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการป้องกันการรบกวนคลื่นความถี่ ซึ่งในกรณีนี้จะต้องติดตั้งวงจรกรองสัญญาณ ที่สถานีฐานของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เพิ่มเติมจากที่ต้องดำเนินการ ส่วนเงื่อนไขข้อ 18 อาจถึงขั้นต้องย้ายคลื่นความถี่