posttoday

"กุลิศ สมบัติศิริ" ภารกิจปลดหนี้รถไฟแสนล้าน

15 กรกฎาคม 2561

คุยกับ "กุลิศ สมบัติศิริ" ประธานคณะกรรมการ รฟท.คนล่าสุด ที่อาสาเข้ามาขับเคลื่อน รฟท.ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญขององค์กร

คุยกับ "กุลิศ สมบัติศิริ" ประธานคณะกรรมการ รฟท.คนล่าสุด ที่อาสาเข้ามาขับเคลื่อน รฟท.ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญขององค์กร

*********************

โดย...ทศพล หงษ์ทอง

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) หนึ่งในระบบขนส่งที่รับใช้คนไทยมามากกว่า 100 ปี นับว่าเป็นองค์กรที่ยังรักษาความเก่าแก่ ทั้งตึกอาคารสำนักงาน สถานีกลางหัวลำโพงอันเป็นเอกลักษณ์ หรือแม้กระทั่งรถไฟที่ให้บริการยังคงมีรถรุ่นเก่าแก่วิ่งบริการอยู่ ประกอบกับภาระอันหนักอึ้งจากหนี้ก้อนโตกว่าแสนล้านบาท ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่น้อยคนนักอยากจะเข้ามาบริหารองค์กรแห่งนี้

แต่มีบุคคลผู้หนึ่งที่ได้อาสาเข้ามาขับเคลื่อน รฟท.ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อขององค์กรที่ต้องเข้าแผนฟื้นฟูพร้อมปรับไปสู่รูปแบบธุรกิจใหม่ที่ไม่ใช่แค่เรื่องรถไฟดีเซล ชายผู้นี้นามว่า กุลิศ สมบัติศิริ ประธานคณะกรรมการ รฟท.คนล่าสุด

กุลิศ แจ้งเกิดจากการแหวกโผขึ้นมาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรเมื่อปี 2558 เชื่อกันว่าเป็น 1 ใน 3 ทหารเสือของรองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ถูกวางหมากให้เข้ามากำกับดูแลรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงคมนาคมที่อยู่ระหว่างแผนฟื้นฟู เช่นเดียวกับ เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานบอร์ดป้ายแดงของการบินไทย และ สุรงค์ บูลกุล ว่าที่ประธานบอร์ดการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) พร้อมตั้งเป้าภายในปี 2570 เมื่อโครงการทางคู่ระยะแรกและระยะที่สองแล้วเสร็จจะเพิ่มสัดส่วนรางรถไฟแบบเพิ่มทางคู่เป็น 67% หรือประมาณ 3,000 กิโลเมตร จากเดิมอยู่ที่ราว 400 กิโลเมตร หรือคิดเป็น 9% ของรางรถไฟทั่วประเทศมาพร้อมกับ Grand Station แห่งแรกของไทยที่มีมูลค่าการก่อสร้างหลายหมื่นล้านบาท

กุลิศ กล่าวว่า ระบบรางเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจเหมือนกันทั่วโลก ภารกิจครั้งนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องเร่งยกเครื่องล้างหนี้และตั้งเป้าว่าจะทำให้รถไฟกลับมามีกำไรใน 10 ปี โดยจะใช้ประสบการณ์ความเป็น Financial Expert ที่สั่งสมมาหลายสิบปีจากหน้าที่ขุนคลังหลากหลายตำแหน่ง ทั้งยังเป็นมือขวาที่ดูแลเรื่องรถไฟในสมัย สรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม เป็น รมช.คมนาคม ดังนั้น ตนจึงต้องการเข้ามาขับเคลื่อนภารกิจล้างหนี้ โดยเน้นที่ 3 ด้านหลัก คือ การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้และจัดโครงสร้างบุคลากรควบคู่ไปกับการกดปุ่มเดินหน้าโครงการระบบรางมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านบาท อาทิ โครงการรถไฟทางคู่เฟส 2 วงเงิน 4 แสนล้านบาท โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ วงเงิน 4 แสนล้านบาท โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินอีอีซีวงเงิน 2.15 แสนล้านบาท และโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-หัวหิน วงเงิน 1 แสนล้านบาท

“ผมรักองค์กรนี้เช่นเดียวกับบอร์ดทุกคนที่ตระหนักถึงความสำคัญของรถไฟที่รับใช้ประชาชน หลายคนบอกว่ารถไฟเหมือนต้นไม้ใกล้ตาย แต่ผมกลับเห็นว่ามันเป็นต้นไม้ที่กำลังจะเจริญงอกงามมีแต่จะออกดอกผลมาเป็นรายได้มหาศาลในอนาคต ยืนยันว่า บอร์ดทุกคนไม่มีการเข้ามาหาผลประโยชน์ใส่ตัวหรือผลประโยชน์ให้เอกชนเพียงบางฝ่ายแต่อย่างใด” กุลิศ กล่าว

สำหรับแนวทางการล้างหนี้นั้น รฟท.จะตั้งบริษัทลูกขึ้นมา 2 แห่ง เพื่อความคล่องตัวในการตัดสินใจและสร้างรายได้อย่างอิสระ แต่ รฟท.จะยังคงถือหุ้น 100% ได้แก่ 1.บริษัทด้านบริหารทรัพย์สิน 2.บริษัทด้านการเดินรถ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในปีนี้ เพื่อทยอยนำที่ดินทำเลทองสามแปลงมูลค่ามากกว่า 4 แสนล้านบาท ออกมาพัฒนาเชิงพาณิชย์เพื่อหารายได้ให้กับองค์กร ได้แก่ ที่ดินมักกะสัน 500 ไร่ ที่ดินสถานีแม่น้ำ 277 ไร่ และที่ดินสถานีกลางบางซื่อมากกว่า 400 ไร่ ควบคู่ไปกับการตั้งศูนย์การผลิตบุคลากรรถไฟ เพื่อรองรับงานเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิตในปี 256

อย่างไรก็ตาม ยังต้องเร่งโครงการตามยุทธศาสตร์ชาติที่รัฐบาลแบ่งสัดส่วนลงทุนระบบรางสูงถึง 73% ของงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดเริ่มตั้งแต่รถไฟทางคู่เฟส 1 รวม 7 เส้นทาง ทางคู่เฟส 2 รวม 9 เส้นทาง เป็นต้น หากทำได้ตามแผนกิจการรถไฟจะกลับมามีกำไรอีกครั้งภายในเวลา 10 ปี หรือในปี 2570 และนี่คือภารกิจที่มีความหวังว่าจะต้องเป็นไปได้ ภายใต้ประธานบอร์ด รฟท. ที่ชื่อ กุลิศ สมบัติศิริ

"กุลิศ สมบัติศิริ" ภารกิจปลดหนี้รถไฟแสนล้าน

จับมือสหภาพฯฟื้นกิจการ

สำหรับต้นตอของปัญหาที่ทำให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีหนี้กว่าแสนล้านบาท คือเรื่องของราคาค่าโดยสารที่ต่ำกว่าต้นทุนจริงหลายเท่าตัวนั้น กุลิศ สมบัติศิริ ประธานคณะกรรมการ รฟท. (บอร์ดรถไฟฯ) กล่าวว่า แผนการปรับราคาและจัดซื้อรถใหม่เพื่อลดค่าซ่อมบำรุงเป็นหัวข้อหลักของการลดรายจ่ายตามแผนฟื้นฟู

เร็วๆ นี้จะมีการศึกษาเรื่องต้นทุนมาตรฐานการขนส่งทางรถไฟที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงในปัจจุบัน เนื่องจากปัจจุบันมีรถไฟบางเส้นทางคิดค่าโดยสารต่ำกว่าต้นทุนจริงมากจนเกิดความไม่คุ้มค่า

ส่วนด้านการจัดโครงสร้างบุคลากรนั้น ขณะนี้บอร์ด รฟท.ได้อนุมัติแผนเพิ่มให้ครบ 19,241 อัตราแล้ว คาดว่าจะเสนอรัฐบาลขอแก้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดิมได้ภายในปีนี้ เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดด้านสัดส่วนการรับบุคลากรใหม่ ที่เดิมระบุไว้เพียง 5% ของจำนวนผู้เกษียณอายุในแต่ละปี

หลังจากนี้ บอร์ด รฟท.จะสั่งให้ทำแผนฟื้นฟูแบบเป็นระบบให้เห็นความชัดเจนว่า ภายใน 5-10 ปี จะเห็นอะไร แล้วภายใน 20 ปี จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ทุกขั้นตอนต้องมีระยะเวลาไทม์ไลน์ที่ชัดเจนในการทำงาน

ส่วนคู่กัดที่มีข้อพิพาทกับฝ่ายนโยบายมาโดยตลอดอย่างสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) นั้น ตนจะปฏิรูประบบการทำงานใหม่ โดยการหันหน้ามาคุยกับสหภาพอย่างจริงจัง พร้อมตัดสินใจในการดำเนินการโครงการต่างๆ ร่วมกันไม่ให้เหมือนกับที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้มีความคิดเห็นไม่ตรงกันหลายด้าน ทั้งนี้ ตนได้ตั้งนโยบายการทำงานว่า รฟท.ต้องนัดพบหารือกับสร.รฟท.ทุก 3 เดือน เพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและแนวทางพัฒนารถไฟของชาติ