posttoday

ซื้อซองไฮสปีด31ราย14บริษัทไทยแข่งต่างชาติ

10 กรกฎาคม 2561

เอกชนไทย-เทศ แห่ซื้อซองไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน 31 ราย เร่งดันอีกสองเส้น 3 แสนล้านเข้าประมูลในรัฐบาลชุดนี้

เอกชนไทย-เทศ แห่ซื้อซองไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน 31 ราย เร่งดันอีกสองเส้น 3 แสนล้านเข้าประมูลในรัฐบาลชุดนี้
         
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า มีบริษัทเอกชนรวม 31 ราย ยื่นซื้อซองประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ถือว่าเกินเป้าหมายที่ รฟท.ตั้งไว้ จากนี้จะเร่งสรุปรายชื่อ ผู้ซื้อซองและเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปของการประกวดราคา
         
ทั้งนี้ เอกชนที่ยื่นซื้อซองมีเอกชนไทย 14 ราย จีน 7 ราย ญี่ปุ่น 4 ราย ฝรั่งเศส 2 ราย มาเลเซีย 2 ราย เกาหลีใต้ 1 ราย และอิตาลี 1 ราย
         
ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงอีก 2 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงกรุงเทพฯ-หัวหิน วงเงิน 9.5 หมื่นล้านบาทและโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เฟส 1 ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก วงเงินราว 2.7 แสนล้านบาท อยู่ระหว่างเสนอตามขั้นตอน คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ดพีพีพี) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยจะเร่งให้แล้วเสร็จในรัฐบาลชุดนี้
         
สำหรับกรณีที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ต่อสายตรงถึงประธานบอร์ด รฟท. เพื่อเร่งรัดโครงการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงช่วงหัวหิน-ชุมพร-สุราษฎร์ธานี เพื่อเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟแลนด์บริดจ์ ช่วงชุมพร-ระนอง รองรับเส้นทางท่องเที่ยวตามชายฝั่งภาคตะวันตก หรือไทยแลนด์ริเวียร่านั้น จะเร่งพิจารณาภายในปีนี้
         
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2561 นายสเตฟาน  โมลนาร์ ประธานคณะกรรมการบริหารสมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์ (EABC) ซึ่งเป็นกลุ่มนักธุรกิจยุโรปใน ประเทศไทย ได้เข้ามาพบหารือในประเด็นธุรกิจที่ธุรกิจยุโรปสนใจลงทุนในประเทศไทย เช่น อุตสาหกรรมยา
         
นอกจากนี้ นักธุรกิจยุโรปมีข้อแนะนำว่าประเทศไทยกำลังจะลงทุนรถไฟความเร็วสูงสายแรกเชื่อม 3 สนามบิน อยากให้เลือกบริษัทที่มีคุณภาพสูงเข้ามา ดำเนินการ เพราะเป็นโครงการที่มีระยะเวลาสัมปทานยาวถึง 50 ปี
         
อย่างไรก็ตาม รวมทั้งนักธุรกิจยุโรปได้ขอให้ทางการไทยปรับปรุงเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ที่เอื้ออำนวยต่อการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะอยากให้เปิดเสรีแรงงานมีฝีมือเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในไทย ซึ่งไทยอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น การแก้ไขกฎระเบียบให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพจากต่างประเทศเข้ามาตั้งธุรกิจในไทยได้สะดวกขึ้น (สตาร์ทอัพแคมป์) การให้สมาร์ท วีซ่า เป็นต้น และได้หารือกับนักธุรกิจถึงความคืบหน้าการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ยุโรป หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปเยือนฝรั่งเศสก่อนหน้านี้