posttoday

โรดโชว์ญี่ปุ่นดึงลงทุนอีอีซี

05 กรกฎาคม 2561

ไทยโรดโชว์ญี่ปุ่นร่ายสิทธิประโยชน์ชักจูงลงทุนอีอีซี ด้านธนาคารญี่ปุ่นพร้อมหนุนเงินกู้ดันเอกชนลงทุนจริงในพื้นที่

ไทยโรดโชว์ญี่ปุ่นร่ายสิทธิประโยชน์ชักจูงลงทุนอีอีซี ด้านธนาคารญี่ปุ่นพร้อมหนุนเงินกู้ดันเอกชนลงทุนจริงในพื้นที่

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยถึงการเดินทางชักจูงการลงทุน (โรดโชว์) "Eastern Economic Corridor (EEC) : Thailand 4.0 in Action" ณ กรุงโตเกียว ว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้นำเสนอแผนการพัฒนาอีอีซี โครงการลงทุนสำคัญและสิทธิประโยชน์การลงทุน ให้กับผู้บริหารบริษัทชั้นนำญี่ปุ่นกว่า 230 คน พร้อมทั้งเชิญชวนนักลงทุนให้ขยายการลงทุนมายังพื้นที่อีอีซี

"ในการเชิญชวนได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยที่มีมายาวนาน พร้อมให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลมีความตั้งใจที่ขับเคลื่อนการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อย่างจริงจัง มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการสร้างเมืองให้เป็นเมืองเชิงนิเวศ ปรับปรุงกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการลงทุนและการดำเนินธุรกิจด้วย" นายคณิศ กล่าว

ทั้งนี้ การให้สิทธิประโยชน์การลงทุนให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นที่จะลงทุนในพื้นที่ เพื่อให้นักลงทุนมั่นใจว่าจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี โดยธนาคารมิซูโฮมีบทบาทสำคัญให้การสนับสนุนการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นที่สนใจจะลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยอาศัยความพร้อมทางด้านเงินทุนและการมีเครือข่ายระดับโลก

อย่างไรก็ตาม การจัดกิจกรรมชักชวนนักลงทุนของ สกพอ.ในครั้งนี้ มุ่งเน้นการดึงดูดนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีศักยภาพ ครอบคลุม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งกรุงโตเกียวเป็นศูนย์รวมบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สาขาการแพทย์สมัยใหม่ สาขาการขนส่งและโลจิสติกส์ เป็นต้น

นอกจากนี้ คณะจะมีการพบปะกับบริษัทญี่ปุ่นชั้นนำหลายบริษัท เพื่อสานต่อการเจรจาที่ดำเนินการอยู่ อาทิ บริษัท Nachi Fujikoshi ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านอุตสาหกรรมเครื่องจักรและหุ่นยนต์ของญี่ปุ่น

"การพบปะบริษัทญี่ปุ่นชั้นนำ อยู่ในแผนการดึงดูดลงทุนของญี่ปุ่นที่มีศักยภาพครอบคลุม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อให้มาลงทุนพื้นที่อีอีซี" นายคณิศ กล่าว

สำหรับการชักจูงการลงทุนเป็นไปตามแผนการดำเนินงานที่วางไว้ เพื่อ ผลักดันให้เกิดการลงทุนจากนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีศักยภาพในพื้นที่อีอีซีอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ซึ่งได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากธนาคารมิซูโฮ ประเทศญี่ปุ่น ตามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ที่ได้ลงนามร่วมกันไปแล้วก่อนหน้านี้ พร้อมด้วยหลายหน่วยงานสำคัญ ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโตเกียว สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ภาคเอกชนของญี่ปุ่น เช่น องค์การส่งเสริมการค้าของญี่ปุ่น (เจโทร)