posttoday

เร่งไฮสปีด6แสนล้าน คาดชงครม.ปี'61 ทั้งเส้นกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-หัวหิน

30 มิถุนายน 2561

คมนาคมขับเคลื่อนแผนแอ็กชั่นแพลนโครงสร้างพื้นฐานอีก 2 เส้นทาง จ่อปรับวงเงินลงทุนหลังงบเวนคืนพุ่ง

คมนาคมขับเคลื่อนแผนแอ็กชั่นแพลนโครงสร้างพื้นฐานอีก 2 เส้นทาง จ่อปรับวงเงินลงทุนหลังงบเวนคืนพุ่ง

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า แผนขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทางกระทรวงคมนาคมตั้งเป้าหมายภายในปี 2561 จะเร่งผลักดันโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่เหลืออีก 2 สาย วงเงินลงทุน 5-6 แสนล้านบาท เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบก่อนเปิดประมูลโครงการต่อไป

ทั้งนี้ ประกอบไปด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 673 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 4-5 แสนล้านบาท และโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หัวหินวงเงิน 9.5 หมื่นล้านบาท

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง เฟส 1 ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 418 กม. วงเงินลงทุน 2.76 แสนล้านบาท ขณะนี้องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ได้จัดทำแผนการออกแบบและรายละเอียดเสร็จและได้หารือร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เรียบร้อยแล้ว โดยส่งเรื่องมายังกระทรวงคมนาคมพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะสามารถเสนอ ครม.ได้ภายในไตรมาส 3 หรือเดือน ก.ย.นี้

ด้านความคืบหน้าของโครงการ รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หัวหิน วงเงิน 9.5 หมื่นล้านบาทนั้น ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้เห็นชอบรายละเอียดโครงการแล้ว แต่ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้ส่งโครงการมาให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สรุปกรอบวงเงินลงทุนใหม่ หลังจากพบว่าจำเป็นต้องเพิ่มเงินลงทุนโครงการหลังจากปรับเปลี่ยนแนวเส้นทางรถไฟ โดยเฉพาะค่าเวนคืนพื้นที่ ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูงตามแนวเส้นทางดังกล่าว รวมถึงวงเงินค่าก่อสร้างที่ต้องเพิ่มมากขึ้นจากการขยายแนวเส้นทาง ออกไป ดังนั้นคาดว่า รฟท.จะเสนอโครงการให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) รฟท.พิจารณาเห็นชอบภายในเดือน ก.ค.นี้

นายพีระพล กล่าวถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาทนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างถอดแบบราคากลาง สัญญาก่อสร้างตอนที่ 2 ช่วงปากช่อง-ขนานจิตร ระยะทาง 11 กม. วงเงิน 5,000 ล้านบาท ควบคู่ไปกับการจัดทำร่างเอกสารเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) คาดว่าจะเปิดประมูลโครงการได้ภายในเดือน ส.ค.นี้ ควบคู่ไปกับการเร่งสรุปรายละเอียดสัญญาที่ 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร วงเงิน 5.4 หมื่นล้านบาท คาดจะได้ข้อสรุปเดือน ส.ค.นี้เพื่อเสนอโครงการเข้า ครม.เดือน ก.ย.

อย่างไรก็ตาม โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. วงเงิน 6 หมื่นล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งสรุปเรื่องการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งถูกสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีสั่งให้ชะลอ พร้อมกลับไปศึกษาเพิ่มเติม เพื่อชี้แจงต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน 2 ประเด็น 1.สาเหตุของการเพิ่มค่าเวนคืน 2.ความผิดพลาดในการคำนวณค่าเวนคืน เนื่องจากกรมทางหลวงจะเสนอขอเพิ่มวงเงินค่าเวนคืนที่ดินในโครงการดังกล่าว หลังจากดำเนินการประเมินราคาที่ดินใหม่ให้สอดคล้องกับปัจจุบัน