posttoday

คลอดบิ๊กดาต้าเกษตร ขีดเส้นต้องเสร็จเดือนก.ค. พาณิชย์นัดถกหน่วยงานเกี่ยวข้อง

23 มิถุนายน 2561

นายกฯ สั่ง ครม.เร่งจัดทำข้อมูลเกษตรครบวงจร ทั้งพืชเศรษฐกิจและพืชเพื่อการพาณิชย์ หวังช่วย แก้ปัญหาราคาตกต่ำ

นายกฯ สั่ง ครม.เร่งจัดทำข้อมูลเกษตรครบวงจร ทั้งพืชเศรษฐกิจและพืชเพื่อการพาณิชย์ หวังช่วย แก้ปัญหาราคาตกต่ำ

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อจัดทำข้อมูล (บิ๊กดาต้า) ที่เกี่ยวข้องกับพืชเกษตรอย่างครบวงจร จำแนกเป็น พืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา อ้อยและข้าวโพด พืชเพื่อการพาณิชย์ พืชเพื่อการบริโภค

ทั้งนี้ การจัดทำข้อมูลแสดงให้เห็นถึงการดำเนินการที่เกี่ยวกับพืชแต่ละ ชนิด ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และ ปลายทาง เช่น พื้นที่การเพาะปลูก กระบวนการผลิต กระบวนการแปรรูป การจำหน่าย ความต้องการของตลาด ทั้งในและต่างประเทศ แนวโน้มราคาผลผลิต รวมทั้งวางแผนนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการสร้างการรับรู้ให้แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไปให้ถูกต้องและ ทั่วถึง เพื่อให้เกษตรกรใช้เป็นข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจในการทำเกษตรได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยนายกรัฐมนตรีได้กำหนดให้เสนอข้อมูลทั้งหมดมารายงานภายในเดือน ก.ค.นี้

ด้าน นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ใน วันที่ 28 มิ.ย. กระทรวงพาณิชย์จะหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงมหาดไทยนัดแรก เพื่อร่วมกันจัดทำแผนสินค้าเกษตรครบวงจรในการรักษาเสถียรภาพราคาอย่างยั่งยืน ตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ได้มอบหมายให้ทั้ง 3 กระทรวงไปดำเนินการวางแผนร่วมกัน

ทั้งนี้ แผนสินค้าเกษตรครบวงจร จะเน้นช่วยเหลือเกษตรกรไม่ให้ประสบปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำจนเกิดความเดือดร้อน โดยแผนจะกำหนดพื้นที่สินค้าเกษตร (โซนนิ่ง) การสนับสนุนโรงงานแปรรูปในแต่ละพื้นที่การร่วมมือกับเอกชนในการเชื่อมโยงตลาดสินค้า การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เป็นต้น

"ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำมาก เกิดจากเกษตรกรแห่กันปลูกพืชชนิดนั้นๆ เพราะเห็นว่าในปัจจุบันมีราคาดี แต่เมื่อผ่านไป 2-3 ปีให้หลัง เริ่มมีผลผลิตออกมาจำนวนมากจนล้นตลาดทำให้ราคาตกต่ำ ดังนั้นการร่วมมือกันหลายๆ หน่วยงานจะเป็นการแก้ปัญหาแบบครบวงจรมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด สับปะรด กระเทียมและอื่นๆ" นายบุณยฤทธิ์ กล่าว

นอกจากนี้ จะมีการส่งเสริมให้เกษตรกรมีการทำสัญญาซื้อขายกับโรงงานให้มากขึ้น เพื่อให้สินค้ามีแหล่งรองรับที่แน่นอน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ต้องพึ่งพา ตลาดต่างประเทศเป็นหลัก เช่น สับปะรด ที่ต้องส่งออก 90% ของผลผลิตจากโรงงานแปรรูป เป็นต้น ดังนั้นเกษตรกรที่ไม่ทำสัญญากับโรงงานก็จะเกิดปัญหาการจำหน่ายสินค้า

สำหรับสินค้าข้าว เร็วๆ นี้จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ด้านมาตรการสินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าว หรือจำนำยุ้งฉาง และสินเชื่อการสร้างยุ้งฉาง หลังจากที่ชาวนาในหลายพื้นที่ออกมาระบุว่าหลายครอบครัวไม่มียุ้งฉาง หรือถ้ามี ก็เป็นยุ้งฉางที่เก่า เพราะตั้งแต่มีโครงการรับจำนำข้าว ชาวนาก็ไม่ได้ใช้ยุ้งฉางเลย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ทางกรมได้เข้าไป แก้ปัญหาในกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ผู้ส่งออกหยุดรับซื้อข้าวจนทำให้ราคาปรับลดลงมาเล็กน้อย ล่าสุดได้ให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสต๊อกข้าวผู้ส่งออกแล้ว ซึ่งตามระเบียบที่กำหนดไว้ ต้องมีสต๊อก 500-1,000 ตัน ขณะเดียวกันต้องไปตรวจสต๊อกของโรงสีตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย. คาดว่าจะตรวจแล้วเสร็จวันที่ 25 มิ.ย.นี้