posttoday

องค์กรเสี่ยงภัยไซเบอร์ เศรษฐกิจสูญ 2.86 แสนล.

19 มิถุนายน 2561

ความปลอดภัยทางไซเบอร์ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก โดยเฉลี่ยคิดเป็น 7% ของจีดีพี

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย

ไมโครซอฟท์ร่วมกับฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน เผยรายงานวิจัย ภาพรวมภัยคุกคามทางไซเบอร์ในเอเชีย แปซิฟิก การปกป้ององค์กรในโลกยุคดิจิทัล โดยทำการสำรวจ 13 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก จำนวน 1,300 รายจาก 13 ประเทศ อาทิ จีน ญี่ปุ่น และไทย เพื่อชี้ให้เห็นช่องโหว่ในกลยุทธ์เชิงความปลอดภัยด้านไซเบอร์องค์กร

โอม ศิวะดิตถ์ ผู้บริหารด้าน นโยบายภาครัฐ บริษัท ไมโครซอฟท์ เปิดเผยว่า การก้าวสู่ยุคที่คลาวด์และ โมบายคอมพิวติ้งมีบทบาทในการ ทำหน้าที่เชื่อมต่อธุรกิจกับลูกค้า และช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงาน แต่ทุกองค์กรต้องเผชิญภัยคุกคามโลกไซเบอร์ ผลวิจัยพบว่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจในไทยที่เป็น ผลกระทบมาจากความปลอดภัยทางไซเบอร์สามารถส่งผลถึง 2.86 แสนล้านบาท หรือเท่ากับ 2.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือจีดีพี มูลค่า 14,360 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก โดยเฉลี่ยคิดเป็น 7% ของจีดีพี ซึ่งองค์กรขนาดใหญ่แต่ละแห่งในไทยอาจเผชิญความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 408 ล้านบาท จากการจู่โจมเพียงครั้งเดียว โดยโอกาสที่ธุรกิจสูญเสียลูกค้าและความน่าเชื่อถือคิดเป็นเม็ดเงินถึง 215.2 ล้านบาท และส่งผลกระทบการเลิกจ้างงานของพนักงานในบริษัทคิดเป็นมูลค่า 170.3 ล้านบาท

"ความเสียหายที่แท้จริงจากภัยอันตรายบนโลกไซเบอร์ ครอบคลุมทั้งเชิงเศรษฐกิจ โอกาสทางธุรกิจ ลดประสิทธิภาพการทำงาน บริษัทขาดสภาพคล่อง และการตกงาน ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ราว 3 ใน 5 ขององค์กร ทั้งหมด หรือ 60% ต้องมีการปลด พนักงานออกในหลายตำแหน่ง เนื่องจาก ผลกระทบของภัยคุกคามทางไซเบอร์ นอกจากนี้ความกังวลในด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ทำให้แผนการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัลดำเนินการช้าลง ซึ่งไทยอยู่ในตัวเลขที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลก" โอม กล่าว

ขณะที่ภัยร้ายที่ต้องจับตาและช่องโหว่ที่ต้องจัดการ ในกลยุทธ์ด้านความปลอดภัยขององค์กร ผลวิจัยระบุว่าสำหรับองค์กรในประเทศไทยแล้ว ภัยร้ายในโลกไซเบอร์ที่มีผลกระทบสูงสุด และใช้เวลาในการแก้ไขฟื้นฟูนานที่สุด คือการเลียนแบบตัวตนของแบรนด์ในโลกออนไลน์ การขโมยข้อมูล และการทำลายข้อมูล

สำหรับช่องว่างเชิงกลยุทธ์ขององค์กรในการปกป้อง คือ 1.องค์กรมองข้ามระบบความปลอดภัยขณะทำโครงการทรานส์ฟอร์เมชั่น 2.การมีระบบซับซ้อน ไม่ได้สะท้อนว่าปลอดภัย พบว่าองค์กรที่ใช้โซลูชั่นด้านความปลอดภัยรวม 26-50 โซลูชั่น มี 15% ที่สามารถแก้ไขปัญหาการจู่โจมใน 1 ชั่วโมง 3.ขาดวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ พบว่าองค์กร 28% ที่เล็งเห็นว่ากลยุทธ์ด้านความปลอดภัยขององค์กรเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น

องค์กรไม่ควรมองข้ามความ ปลอดภัยทางไซเบอร์ เพราะเป็นส่วนสำคัญขับเคลื่อนการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัล ซึ่งองค์กรต้องลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดโอกาสสูญเสียเม็ดเงินให้กับแฮ็กเกอร์ บอตเน็ต แรนซัมแวร์ 3 อาชญากรในยุคดิจิทัล และที่สำคัญลดการสูญเสียโอกาสของธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศที่มีมูลค่ามหาศาล