posttoday

บีบลดค่าคลื่น1800

16 มิถุนายน 2561

กสทช.รายงานรัฐบาล หลังประมูล 1800 ล่ม เสนอยกเลิกการประกาศเยียวยา เอกชนกดดันลดค่าคลื่น

กสทช.รายงานรัฐบาล หลังประมูล 1800 ล่ม เสนอยกเลิกการประกาศเยียวยา เอกชนกดดันลดค่าคลื่น

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2561 ถึงกำหนดเวลาการยื่นขอรับใบอนุญาตการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ทั้งนี้ไม่มีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) รายใด เข้าร่วมการประมูล

"ผมได้รายงานปัญหาดังกล่าวด้วยวาจาแก่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในเบื้องต้นแล้ว หลังจากนี้จะเสนอรายงานต่อรัฐบาลอย่างเป็นทางการภายใน 2 วัน เกี่ยวกับประเด็นปัญหา ที่ทำให้ไม่มีผู้เข้าร่วมการประมูล คาดจะ ได้ข้อสรุปชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร ต่อไปภายในวันที่ 10 ก.ค.นี้" นายฐากร กล่าว

สำหรับประเด็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ไม่มีผู้เข้าร่วมการประมูลครั้งนี้ ทั้งในส่วนของทรูและเอไอเอส คือ ต้องชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ในปี 2562 และต้องเตรียมเงินเพื่อลงทุนเทคโนโลยีใหม่ จึงขอไม่เข้าร่วมการประมูล สำหรับดีแทคแจ้งว่ามีคลื่นในการให้บริการเพียงพอ โดยได้รวมคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในเดือน ก.ย. 2561 และหวังว่า จะได้รับมาตรการเยียวยา

อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กสทช.จะเสนอการยกเลิกประกาศ กสทช. เรื่อง "มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ ในกรณีการสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาณการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556" หรือมาตรการเยียวยาคลื่นความถี่แก่รัฐบาล เนื่องจากเจตนาการเยียวยาคลื่นความถี่ต้องมาจากปัญหาที่สำนักงาน กสทช.จัดการประมูลไม่ทันก่อนการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน แต่ในครั้งนี้ได้เตรียมการประมูลล่วงหน้าก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน แต่ไม่มีผู้เข้าร่วมการประมูล เงื่อนไขการขอเยียวยาผู้ใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ในครั้งนี้จึงไม่สมเหตุสมผล

"เราต้องขจัดปัญหาที่ทำให้ไม่มีผู้เข้าร่วมการประมูล โดยในส่วนทรูและเอไอเอส กังวลในประเด็นไม่มีเงินในการประมูล เนื่องจากต้องชำระค่าคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ในงวดที่ 4 ที่จะครบกำหนดชำระในปี 2562 จึงจะเสนอให้รัฐบาลใช้มาตรา 44 เพื่อขยายงวดการชำระ สำหรับดีแทคจะยกเลิกมาตรการเยียวยาเนื่องจากไม่เข้าข่าย และเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ดีแทคไม่เข้าร่วมประมูล ดังนั้นฝากบอกโอเปอเรเตอร์ว่าฝันใกล้ๆ ระวังจะไปไม่ถึง" นายฐากร กล่าว

นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค กล่าวว่า บริษัทได้พิจารณาไว้อย่างรอบคอบแล้วจะไม่มีการเข้าร่วมประมูล เพราะราคาเริ่มต้นประมูลสูง 37,457 ล้านบาท อย่างไรก็ดี หาก กสทช.ปรับเงื่อนไขหลักเกณฑ์การประมูลใหม่ บริษัทจะนำไปพิจารณาใหม่อีกครั้ง

ขณะที่ นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวเช่นเดียวกันว่า หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลยังไม่เหมาะสมต่อการลงทุน

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ  กสทช.  กล่าวว่า การประมูลคลื่น 1800  เมกะเฮิรตซ์ ที่ล่มลง ส่งผลกระทบต่อการก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของไทย เพราะ ปริมาณการใช้ดาต้าที่เพิ่มขึ้นจาก 8 กิกะไบต์/คน/เดือน รวมถึงทิศทางไปสู่ 5จี ของไทยจะช้าลงไปอีก