posttoday

"Tuk Tuk Hop" รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าไทยมาแล้ว

15 มิถุนายน 2561

รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าไทยกับ “Tuk Tuk Hop” พร้อมเปิดให้บริการแก่ลูกค้าคนไทยและต่างชาติแล้ว

โดย...วราภรณ์ เทียนเงิน

รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าไทยกับ “Tuk Tuk Hop” พร้อมเปิดให้บริการแก่ลูกค้าคนไทยและต่างชาติแล้ว จากผู้ก่อตั้งไทยที่มีความต้องการทำให้การเดินทางของคนในประเทศสะดวกที่สุด จึงสามารถพัฒนาเทคโนโลยีของรถไฟฟ้าและบริการได้อย่างครบวงจร

ทีมก่อตั้ง “Tuk Tuk Hop” มีทั้งหมด 4 คน ประกอบด้วย “ดร.กฤษดา กฤตยากีรณ” Chief Executive Officer, “ดร.เมธา เจียรดิฐ” Chief Technical Officer, “พิพัฒน์ ตั้งสิริไพศาล” Chief Engineer และ “ศุภพงษ์ กิติวัฒนศักดิ์” Business Development ที่ทั้ง 4 คน ต่างมีความพิเศษ โดยมีความเชี่ยวชาญเฉพาะแต่ละด้านที่แตกต่างกัน ทั้งเทคโนโลยี ฮาร์ดแวร์ และซอฟแวร์ รวมถึงมีความเชี่ยวชาญในระบบรถไฟฟ้า รถยนต์มายาวนาน

“ดร.กฤษดา กฤตยากีรณ” ซีอีโอ ของ Tuk Tuk Hop เปิดเผยว่า Tuk Tuk Hop ที่ได้เปิดให้บริการในระยะแรก (เฟส1)0จะให้บริการ รถตุ๊กตุ๊กที่เป็นเครือข่าย ไว้ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวในจุดท่องเที่ยวสำคัญของกทม. จำนวน 60 จุด เพื่อให้การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างที่ต่างๆ เป็นไปได้อย่างง่าย มีความสะดวก สามารถขึ้นรถไว้ตามจุดที่ให้บริการทั้งหมด

สำหรับกลุ่มลูกค้าหลักที่ใช้บริการ จะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่สามารถเลือกใช้งานผ่านการดาวโหลดในแอพพลิเคชั่น Tuk Tuk Hop โดยได้เปิดให้บริการมาเป็นระยะเวลากว่า 1 ปีให้แก่ลูกค้าแล้ว และผลการตอบรับจากลูกค้าต่างชาติอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

"Tuk Tuk Hop" รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าไทยมาแล้ว

“สิ่งที่ทีมทั้ง 4 คนมีความสนใจคือ การเดินทางของคนในเมือง และผมก็มีความเกี่ยวข้องกับด้านยานยนต์ เราเห็นปัญหาของ กทม. มีปัญหาต่างๆ ให้ต้องแก้อีกหลายด้าน จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการสนใจที่จะนำเทคโนโลยีมาร่วมแก้ปัญหาการเดินทางให้แก่คนในเมือง ทำอย่างไร ทำให้การเดินทางแต่ละจุดเกิดการประสานและคล่องตัวที่สุด” ดร.กฤษดา กล่าว

ในช่วงเริ่มต้น ทีมได้ใช้ระยะเวลาในการร่วมพัฒนาใช้เวลาหลายเดือน ก่อนที่จะเปิดให้บริการออกมาสู่ลูกค้า สำหรับให้บริการแก่ลูกค้า ทั้งบริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ถนนข้าวสาร เขตดุสิต ไชน่า ทาวน์ และพาหุรัด เป็นต้น ซึ่งการให้บริการแก่ลูกค้า จะมีความปลอดภัย และสามารถเลือกจุดขึ้นรถและลงรถได้ตามที่ต้องการได้ รถตุ๊กตุ๊กทุกคันจะติดตั้ง จีพีเอส เพื่อติดตามข้อมูลและการทำงาน อีกทั้ง ได้สร้างระบบการจ่ายเงินทำให้ลูกค้ามีความสะดวก ซึ่งลูกค้าที่ใช้บริการจะเป็นการเหมาจ่ายแบบรายวันและสามารถใช้บริการได้ทั้งวัน

ในปัจจุบัน ทีมที่มีความเชี่ยวชาญด้านรถไฟฟ้าอยู่แล้ว จึงได้พัฒนา รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ามาให้บริการแก่นักท่องเที่ยวในเบื้องต้นแล้วผสมกับรถตุ๊กตุ๊กแบบธรรมดา ซึ่งมีการจดทะเบียนรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าไว้แล้ว

สำหรับการออกแบบถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า  ทีมได้ออกแบบเองทั้งหมด จะมีความพิเศษที่ทีมได้คิดค้นขึ้น คือ เทคโนโลยีในการชาร์ทแบตเตอรี่ไฟฟ้า ทำให้สามารถชาร์ทได้ในระยะเวลา ครึ่งชั่วโมงเท่านั้น และเป็นบริษัทแรกในไทยที่ได้คิดค้นเทคโนโลยีดังกล่าวได้ ซึ่งในต่างประเทศ มีเทสล่า ที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีการชาร์ทไฟในเวลาครึ่งชั่วโมงเช่นกัน

"Tuk Tuk Hop" รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าไทยมาแล้ว

ขณะเดียวกัน รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า นอกจากการชาร์ทไฟที่เร็วในเวลา ครึ่งชั่วโมงแล้ว จุดเด่นต่อมาคือ ช่วยประหยัดพลังงาน โดยจะต้องใช้ค่าไฟประมาณ 50 สตางค์ต่อกิโลเมตร รวมถึงมีจุดเด่นอีก 2 จุดคือ พื้นของรถต่ำ ทำให้ลูกค้าสามารถขึ้นลงสะดวกแตกต่างจากรถตุ๊กตุ๊กทั่วไป รวมถึงการมี อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ หรือ ไอโอที สำหรับ Fleet Management   อีกทั้งได้ออกแบบทำให้หลังคามองเห็นวิวได้อย่างชัดเจน จึงเหมาะกับนักท่องเที่ยวสำหรับการชมเมืองดูวิวต่างๆ

อีกสิ่งสำคัญที่ทีมให้ความสำคัญอย่างสูงสุดคือ เรื่องมาตรฐานของรถที่ทำให้มีความปลอดภัยในการใช้งาน ทั้งนี้ทีมได้มีการทำวิจัยเพื่อศึกษาความปลอดภัยของตุ๊กตุ๊ก ผ่านการร่วมมือกับ นักวิจัยของ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)  สวทช.ทำให้ผู้ใช้บริการได้รับความมั่นใจในการเลือกใช้ และในระยะต่อไป อยู่ระหว่างการพัฒนาร่วมกับนักวิจัยเพิ่มในส่วนอื่นๆ อีก

“ดร.กฤษดา” กล่าวว่า ได้เปิดให้ลูกค้าทั่วไป และกลุ่มองค์กร สามารถเปิดจองรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าได้เช่นกัน โดยมีลูกค้าบริษัทที่เป็นเจ้าของคอนโดมิเนียมได้สั่งรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าไว้ให้บริการแก่ลูกค้า ซึ่งประเมินราคาเบื้องต้นประมาณ 3-4 แสนบาทต่อคัน หรือขึ้นอยู่กับแบตเตอรี่

พร้อมกันนี้ สนใจที่จะขยายบริการในจุดใหม่ที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยว เพื่อทำให้การเดินทางมีความสะดวกมากที่สุด รวมถึงการเตรียมที่จะเปิดผลิตภัณฑ์ใหม่ภายในปีนี้ และจะส่งผลดีต่อกลุ่มลูกค้า กลุ่มนักท่องเที่ยวต่อไป

"Tuk Tuk Hop" รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าไทยมาแล้ว

"การบริหารบริษัท จะมุ่งไปที่การใช้เทคโนโลยีในการตอบสนองความต้องการในการเดินทาง ขณะที่การทำธุรกิจให้ยั่งยืน จะต้องตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มใหญ่ และบริษัทต้องมีจุดแข็งที่สร้าง  value proposition ให้กับกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหญ่นี้  ส่วนเรื่องระดมทุน บริษัทได้มีการจับมือกับบริษัทพลังงานที่ให้ความสนใจกับ urban mobility อยู่" ดร.กฤษดา กล่าว 

ทางด้านแผนการขยายสู่ต่างประเทศ บริษัทมองว่าปัญหาเรื่องการเดินทาง เป็นปัญหาใหญ่ในหลายๆประเทศๆ ดังนั้น จึงมีโอกาสอย่างมาก ในตลาดต่างประเทศ โดยในปัจจุบันมีลูกค้าจากต่างประเทศมาติดต่อพอสมควร ทั้งที่บริษัทยังไม่ได้ทำการตลาด

ดร.กฤษดา กล่าว ทิ้งท้ายว่า "Tuk Tuk Hop" มีแผนงานระยะยาว ใน 3-5 ปีขางหน้าจะเป็นการขยายพื้นที่พร้อมเพิ่ม key features เพื่อเจาะกลุ่ม เอฟไอที หรือ  FIT (Fully Independent Traveller) มากขึ้น ภายใต้การมีจุดแข็ง ที่บริษัททำการพัฒนาฮาร์ดแวร์ และซอฟแวร์ เป็นเทคโนโลยีของบริษัทเอง ผสมด้วยการมีความเชี่ยวชาญของทีมงานทุกคน

"Tuk Tuk Hop" บริการใหม่ที่เข้ามาตอบโจทย์นักท่องเที่ยว รองรับประเทศไทย ที่ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวของโลกไปแล้ว จึงทำให้การเดินทางไปในจุดหลักๆ สะดวกและคล่องตัว พร้อมกับการนำเสนอ รถไฟฟ้า ที่เป็น รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า มาสู่ตลาดไทยอย่างเป็นทางการ เชื่อว่า ในอนาคต จะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาสร้างตลาดรถไฟฟ้าทั้งในไทยและตลาดโลกให้เติบโตได้ดีอย่างแน่นอน