posttoday

"ถ้าไม่มีกฎหมาย สังคมคงยุ่งเหยิง เพราะผู้คนเอาตัวเองเป็นที่ตั้งมากกว่านี้" มุมความคิด ศิริวัฒน์ คำสิงห์นอก ศิษย์เก่านิติฯ ม.กรุงเทพ ผู้สอบเนติฯ อันดับ 1 ของประเทศด้วยคะแนนเกียรตินิยม

13 มิถุนายน 2561

จากเด็กกลางห้องค่อนไปทางหลังห้อง จบม.ปลายจากโรงเรียนอุดรพิทยานุกูลมาด้วยเกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.5 วันนี้เจม-ศิริวัฒน์ คำสิงห์นอก กลายเป็นนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วัย 23 ปีผู้มีเกียรตินิยมอันดับ 2

 

"ถ้าไม่มีกฎหมาย สังคมคงยุ่งเหยิง เพราะผู้คนเอาตัวเองเป็นที่ตั้งมากกว่านี้" มุมความคิด ศิริวัฒน์ คำสิงห์นอก ศิษย์เก่านิติฯ ม.กรุงเทพ ผู้สอบเนติฯ อันดับ 1 ของประเทศด้วยคะแนนเกียรตินิยม

จากเด็กกลางห้องจบม.ปลายจากโรงเรียนอุดรพิทยานุกูลมาด้วยเกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.5 วันนี้เจม-ศิริวัฒน์ คำสิงห์นอก กลายเป็นนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วัย 23 ปี ผู้มีเกียรตินิยมอันดับ 2 พ่วงท้าย และล่าสุดยังสร้างสถิติหลายรายการในการสอบเนติบัณฑิตยสภาสมัยที่ 70 ไม่ว่าจะเป็นผู้สอบไล่ได้เป็นอันดับที่ 1 ของประเทศด้วยคะแนนเกียรตินิยม ถือเป็นบัณฑิตคนแรกจากมหาวิทยาลัยเอกชนที่ทำได้ และเป็นคนที่ 5 ในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่มีการจัดสอบขึ้น ทั้งยังเป็นบัณฑิตคนแรกจากมหาวิทยาลัยเอกชนที่ทำคะแนนสอบไล่เกิน 80 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ใน 3 สาขาวิชาจาก 4 สาขาวิชาที่สอบอีกด้วย

"สมัยเรียนมัธยม ผมไม่ใช่เด็กเกเร แต่ก็ไม่ใช่เด็กตั้งใจเรียน ไม่มีพรสวรรค์อะไรเลย ไม่ชอบทำกิจกรรม จะทำเฉพาะตอนที่ถูกสั่งให้ทำ ไม่เคยสมัครใจทำเอง"

นั่นคือนิยามความเป็นเจม-ศิริวัฒน์ในสมัยเรียนมัธยม ซึ่งทำให้เราแทบไม่อยากเชื่อว่า วันนี้เขาจะก้าวไปไกลกว่าที่ใครๆ คาดคิดมาก เจมบอกว่าสิ่งที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จในทุกวันนี้ได้ก็คือ "ความมุ่งมั่น"

"อันที่จริงตอนจบม.ปลาย ผมแอดฯ ติดคณะเศรษฐศาสตร์ที่แม่โจ้ แต่แม่บอกว่าการเดินทางจากอุดรไปเชียงใหม่นั้นลำบากกว่ามาเรียนที่กรุงเทพฯ ผมเลยตัดสินใจมาเรียนนิติศาสตร์ ม.กรุงเทพ กับเพื่อนสนิทคนหนึ่ง ด้วยเหตุผลแค่อยากตามมาเรียนกับเพื่อนเท่านั้น"

"ถ้าไม่มีกฎหมาย สังคมคงยุ่งเหยิง เพราะผู้คนเอาตัวเองเป็นที่ตั้งมากกว่านี้" มุมความคิด ศิริวัฒน์ คำสิงห์นอก ศิษย์เก่านิติฯ ม.กรุงเทพ ผู้สอบเนติฯ อันดับ 1 ของประเทศด้วยคะแนนเกียรตินิยม

 

แล้วมาค้นพบตัวเองว่าชอบด้านกฎหมายเมื่อไร

"ผมเริ่มตั้งใจอ่านหนังสือจริงๆ ตอนขึ้นปี 2 เพราะรู้สึกว่าเรียนยาก เลยกลัวติด F แต่พอได้อ่านมาตรากฎหมายต่างๆ อย่างจริงจังก็พบว่า มันยากตรงทำความเข้าใจ แต่พอเข้าใจแล้วก็จะง่าย ทำให้ผมชอบวิเคราะห์และคิดภาพตาม เช่น ถ้าเกิดเหตุฆาตกรรม ฆาตกรจะอำพรางศพอย่างไร เป็นต้น เลยเริ่มสนุกกับการเรียนกฎหมาย"

มีเทคนิคการเรียนอย่างไรให้เก่ง

"ผมจะอ่านตำราและเข้าเรียนด้วยทุกครั้ง เพื่อจะทวนว่าเราเข้าใจถูกต้องแล้วหรือเปล่า และผมจะอ่านจนจบทีละวิชาๆ ไปเลย เช่น อ่านที 4 วิชาเลย ไม่ใช่อ่านเฉพาะบทที่กำลังจะเรียน ผมรู้ตัวว่าตัวเองไม่ใช่คนเก่ง ผมเลยชอบอ่านหลายๆ รอบเพื่อให้จำได้ อย่างตอนเรียนเนติฯ เวลาว่างแทบไม่มีเลยเพราะต้องอ่านทุกวัน พออ่านแต่ละวิชาจบ ก็วนกลับมาอ่านอันเก่าอีกเพื่อให้จำได้"

ในอนาคตฝันอยากเป็นอะไร

"ผมอยากเป็นผู้พิพากษา เพราะสมัยเรียนที่ม.กรุงเทพ มีอาจารย์พิเศษที่เป็นผู้พิพากษามาสอนหลายท่าน ทำให้รู้สึกชอบและอยากเป็น"

งานผู้พิพากษามีเสน่ห์อย่างไรที่ทำให้เราอยากเป็น

"อันที่จริงแต่ก่อนผมเคยดูอาชีพต่างๆ เห็นว่าอาชีพอัยการและผู้พิพากษาก็น่าทำ แต่ไม่คิดว่าตัวเองจะไปถึงขั้นนั้นได้ แต่พอมาเรียน ทำให้ผมชอบความเด็ดขาดของผู้พิพากษา และยังชอบภาษาที่เขียนในคำพิพากษาและฎีกาซึ่งเป็นภาษาเก่าๆ แบบเป็นทางการด้วย"

"อันที่จริงแต่ก่อนผมเคยดูอาชีพต่างๆ เห็นว่าอาชีพอัยการและผู้พิพากษาก็น่าทำ แต่ไม่คิดว่าตัวเองจะไปถึงขั้นนั้นได้ แต่พอมาเรียน ทำให้ผมชอบความเด็ดขาดของผู้พิพากษา และยังชอบภาษาที่เขียนในคำพิพากษาและฎีกาซึ่งเป็นภาษาเก่าๆ แบบเป็นทางการด้วย"

ก่อนมาเรียนนิติศาสตร์ และหลังจากได้มาเรียน มุมมองที่มีต่อกฎหมายเปลี่ยนไปบ้างหรือเปล่า

"สมัยก่อนผมก็ไม่ได้เป็นคนเคารพกฎหมายอย่างเคร่งครัดเท่าไรอย่างเช่นกฎจราจร (หัวเราะ) และเคยคิดว่าบางทีกฎหมายก็ค่อนข้างหย่อนยาน แต่พอมาเรียนก็ทำให้เข้าใจว่า บางทีถ้าเด็ดขาดหรือตรงตามตัวบทกฎหมายมากเกินไป ก็อาจทำให้สูญเสียความยุติธรรม นอกจากนี้ยังเห็นความสำคัญของกฎหมายมากขึ้น เพราะถ้าไม่มีกฎหมายเป็นกรอบให้คนปฏิบัติตามและรักษาสิทธิ์ให้คนในสังคม สังคมคงจะยุ่งเหยิง เพราะผู้คนคงเอาตัวเองเป็นที่ตั้งมากกว่านี้"

คิดว่าอะไรทำให้เราประสบความสำเร็จในการสอบเนติบัณฑิต

"คงเป็นความวิริยะอุตสาหะ เพราะผมไม่ไปเที่ยวไหนเลย อ่านหนังสืออย่างเดียว แต่ก็ต้องรู้จักแบ่งเวลาให้พอดีด้วย คือผมจะอ่านจนถึงสักทุ่มสองทุ่ม เวลาที่เหลือก็เหมือนคนทั่วๆ ไปคือเล่นเกมบ้าง เล่นกับน้องบ้าง แต่เวลาเรียนก็จะตั้งใจเรียนอย่างเดียวเลย อีกอย่างคือเวลาผมอยากเป็นอะไร ผมจะมุ่งมั่นมาก ผมจะติดไว้ตรงหัวเตียงเลยว่าอยากเป็นผู้พิพากษา ซึ่งถ้าอยากเป็น ก็ต้องอ่านให้มาก ไม่อ่านไม่ได้ เวลาอ่านหนังสือก็ต้องตั้งเป้าไว้เลย เช่น จะอ่าน 3 บท ก็ต้องอ่าน 3 บท อ่านจบแล้วค่อยพัก ผมเป็นคนชอบมองอนาคต อยากทำงานดี อยากมีครอบครัวที่ดี ซึ่งถ้าจะมีได้ ตัวเองก็ต้องมั่นคงเสียก่อน"

มีความคิดเห็นอย่างไรกับกฎหมายเมืองไทย

"สังคมไทยหย่อนเกินไป ต้องเคร่งครัดกว่านี้ คือกฎหมายมี แต่คนใช้กฎหมายไม่เคร่งเท่าที่ควร ปัญหาอีกอย่างคือขาดความเสมอภาคในการใช้กฎหมาย เพราะมีเรื่องของชนชั้นมาเกี่ยวข้องมากเกินไป"

แล้วคิดว่าจะนำความรู้ไปพัฒนาอะไรได้บ้าง

"การจะเปลี่ยนกฎหมายมาตราใดๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านหลายขั้นตอน ต้องระดมหลายความคิด ไมใช่ของเราคนเดียว ดังนั้นวิธีที่ง่ายที่สุดคือถ่ายทอดความรู้ให้คนใกล้ตัว เช่น คนในครอบครัว อย่างเวลาคุยกับพ่อแม่หรือยาย ผมก็มักถามว่ามีเรื่องอะไรในหมู่บ้านกันบ้างหรือเปล่า ถ้ามี ผมก็จะบรรยายให้ฟังว่าตามกฎหมายเป็นแบบนี้ๆ นะ"

 

"ถ้าไม่มีกฎหมาย สังคมคงยุ่งเหยิง เพราะผู้คนเอาตัวเองเป็นที่ตั้งมากกว่านี้" มุมความคิด ศิริวัฒน์ คำสิงห์นอก ศิษย์เก่านิติฯ ม.กรุงเทพ ผู้สอบเนติฯ อันดับ 1 ของประเทศด้วยคะแนนเกียรตินิยม  

 

เคยรู้สึกว่าคิดผิดบ้างไหมที่มาเรียนนิติศาสตร์ ม.กรุงเทพ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วก็มีตัวเลือกมากมาย

"ไม่เคยรู้สึกว่าคิดผิดเลย เพราะการมาเรียนที่นี่ทำให้เราสนุกกับการเรียน ผมคิดว่าม.กรุงเทพให้อะไรเราหลายอย่าง โดยเฉพาะความรู้ต่างๆ ที่เข้าใจง่าย อย่างตอนไปเรียนที่เนติฯ รู้สึกเลยว่าเราได้เปรียบกว่าคนอื่นตรงที่มีพื้นฐานแน่น และเท่าที่ทราบมาคือ ม.รัฐมักจะเน้นด้านวิชาการ ต่างจากของม.กรุงเทพที่สอนเหมือนเนติฯ เลย เรียกว่าสอนแบบตรงเส้นทางการไปสู่อาชีพอัยการและผู้พิพากษามากกว่าที่อื่น"

เจมกล่าวทิ้งท้ายว่า การมาเรียนนิติศาสตร์ ม.กรุงเทพ ทำให้เขาเป็นผู้ใหญ่ สุขุมรอบคอบ และรู้จักคิดวิเคราะห์มากขึ้น ทั้งยังปลูกฝังให้เป็นคนดี เพราะผู้พิพากษาต้องมีความประพฤติดี ประพฤติชอบเสียก่อน ถึงจะสามารถไปพิพากษาผู้อื่นได้ ดังคติพจน์ของม.กรุงเทพที่เขาจำขึ้นใจว่า "ความรู้คู่ความดี" ในอนาคตจึงมั่นใจว่า เจม-ศิริวัฒน์จะต้องเป็นผู้พิพากษาที่ดีของประเทศชาติอย่างแน่นอน