posttoday

ครม.อนุมัติแนวทางพัฒนาศก.-สังคมภาคเหนือตอนล่าง5ด้าน

12 มิถุนายน 2561

ครม.สัญจร อนุมัติแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่างใน 5 ด้าน ปั้นไบโอฮับ-พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร

ครม.สัญจร อนุมัติแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่างใน 5 ด้าน ปั้นไบโอฮับ-พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ จ.นครสวรรค์ ได้มีมติอนุมัติตามข้อเสนอแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 (นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี) ซึ่งประกอบด้วยแผนงาน 5 ด้าน คือ 1.ด้านการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจร (Bio Hub) อย่างยั่งยืน 2.ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร 3.ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4.ด้านโครงสร้างพื้นฐาน และ 5.ด้านการท่องเที่ยว โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ด้านการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจร (Bio Hub) อย่างยั่งยืน

รัฐบาลได้กำหนดให้ จ.นครสวรรค์ เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษคลัสเตอร์อุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio Hub) ตามที่ภาคเอกชนเสนอในคราวประชุมร่วมระหว่างนายกรัฐมนตรี กับคณะกรรมการ กรอ.ส่วนกลาง และคณะกรรมการ กรอ. กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 เมื่อปี 2559 ซึ่งมีความก้าวหน้าเป็นลำดับ ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมต่อยอดอุตสาหกรรมชีวภาพ จึงขอรับการสนับสนุน ดังนี้

1) โครงการศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ จ.นครสวรรค์ เพื่อรองรับนโยบายประเทศไทย 4.0

2) ให้กรมชลประทานไปศึกษาเกี่ยวกับแนวคิดการวางระบบท่อส่งน้ำไปพื้นที่ทำการเกษตรใน จ.นครสวรรค์ เพื่อสนับสนุนการปลูกพืชสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ

3) เพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงชนบท หมายเลข 3212

2. ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร

กลุ่มจังหวัดฯ ขอรับการสนับสนุนให้มีระบบชลประทานที่ดี เนื่องจากเป็นกลุ่มจังหวัดที่เป็นพื้นที่การเกษตรที่สำคัญ แต่ยังประสบปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง เป็นประจำทุกปี นายกรัฐมนตรีขอให้แยกกิจกรรมให้เกิดความชัดเจนว่ากิจกรรมไหนควรทำก่อนหรือทำหลัง กิจกรรมไหนเป็นกิจกรรมเร่งด่วน และกิจกรรมไหนอยู่ในแผนการใช้งบประมาณประจำปีแล้ว เพื่อลดความซ้ำซ้อนการพิจารณางบประมาณ พร้อมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ จะมีการศึกษาสำรวจและออกแบบโครางการชลประทานพิษณุโลกฝั่งซ้าย ตลอดจนศึกษาความเหมาะสมผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมสำรวจออกแบบโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการแม่น้ำสะแกกรัง จ.อุทัยธานี

3. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ได้เห็นชอบตามข้อเสนอในการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง เนื่องจากที่ผ่านมากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่านทั้งปิง ยม น่าน เจ้าพระยา และสะแกกรัง ประชาชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำ และได้รับความเดือดร้อนจากเหตุอุทกภัยและการพังทลายของตลิ่งหลายครั้ง จึงขอให้เร่งรัดดำเนินการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ใน 4 พื้นที่

1) เขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน ในพื้นที่ 6 อำเภอ ของ จ.พิจิตร

2) เขื่อนป้องกันตลิ่งริ่มแม่น้ำสะแกกรัง ต.สะแกกรัง อ.เมือง จ.อุทัยธานี

3) เขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา อ.เมืองอุทัยธานี ต่อเนื่องเขื่อนเดิม และ อ.โกรกพระ จ.นครสวรรค์

4) เขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำปิง ต.ท่างิ้ว ต.หูกวาง ต.บางตาหงาย อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์

4. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน

ได้เห็นชอบการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งทางบกและทางน้ำ โดยมุ่งหวังให้กลุ่มจังหวัดฯ เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างภาคกลาง ไปสู่ภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเชื่อมโยงสู่ภูมิภาคอาเซียน ประกอบด้วย โครงข่ายคมนาคมทางถนน โครงข่ายคมนาคมทางราง โดยได้อนุมัติการก่อสร้างรถไฟทางคู่เพื่อเชื่อมโยงภาคตะวันตกไปสู่ภาคตะวันออก โดยเร่งรัดศึกษาการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟจากแม่สอด - ตาก - กำแพงเพชร - นครสวรรค์ - ขอนแก่น - นครพนม ส่วนโครงข่ายคมนาคมทางน้ำ ให้เร่งรัดการดำเนินการตามผลการศึกษาโครงการก่อสร้างเขื่อนยกระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน่านเพื่อการเดินเรือ รวมถึงลดต้นทุนการขนส่ง

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า ในด้านโครงข่ายคมนาคมนั้น รมว.คมนาคม ได้ชี้แจงว่าโครงการทั้งหมดที่ภาคเอกชนนำเสนอมาได้มีอยู่ในแผนการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคมทั้งหมดแล้ว ชึ่งจะใช้งบประมาณในปี 61-65 ตามลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนของโครงการต่อไป ด้านโครงข่ายคมนาคมทางราง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยู่ระหว่างดำเนินการรถไฟทางคู่ เมื่อเสร็จแล้วจะสามารถสนับสนุนการขนส่งทางรางได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนเส้นทางรถไฟเดิมจะใช้เป็นเส้นทางเส้นรอง พร้อมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอไปพิจารณา และศึกษาผลกระทบของโครงการต่อไป

5. ด้านการท่องเที่ยว กลุ่มจังหวัดฯ มีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมรดกโลกถึง 2 แห่ง คือ 1.แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี และ 2.มรดกโลกทางวัฒนธรรม ที่อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จึงขอให้รัฐบาลสนับสนุนการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวโดยขอขยายปรับปรุงถนนเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกห้วยขาแข้ง-อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์อุทยานเมืองเก่าพิจิตร จ.พิจิตร

แต่ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรไม่พิจารณาอนุมัติการขยายถนนเชื่อมโยงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งดังกล่าว เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายเรื่องการขยายถนนบริเวณแหล่งท่องเที่ยวว่าขอให้คำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก อย่าทำลายป่าไม้จนกระทบสิ่งแวดล้อม สัตว์ป่า และเส้นทางน้ำ โดยขอให้หาแนวทางใหม่แทนการขยายถนน เช่น มีการบริหารจัดการช่วงเวลาการท่องเที่ยว จัดระบบการขนส่งคอยรับส่งนักท่องเที่ยว แทนการนำรถเข้าไปในแหล่งท่องเที่ยว ขอให้คำนึงถึงคุณภาพมากกว่าปริมาณ แต่ในส่วนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์อุทยานเมืองเก่าพิจิตรนั้น ที่ประชุมเห็นชอบตามที่ภาคเอกชนเสนอ