posttoday

ไทยตั้งโต๊ะสู้'คิงส์เกต' กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมลุยคดี มั่นใจชนะแน่

02 มิถุนายน 2561

คิงส์เกตเริ่มกระบวนการยื่นฟ้องรัฐบาลไทย เหตุปิดเหมืองอัคราฯ ดึงสิงคโปร์ประเทศที่ 3 ร่วมเจรจา คาดใน2ปีรู้ผล

คิงส์เกตเริ่มกระบวนการยื่นฟ้องรัฐบาลไทย เหตุปิดเหมืองอัคราฯ ดึงสิงคโปร์ประเทศที่ 3 ร่วมเจรจา  คาดใน2ปีรู้ผล

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด เปิดเผยว่า บริษัท คิงส์เกตฯ ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาท (สเตตเมนต์ ออฟ เคลม) เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา ในกรณีพิพาทกับไทยเกี่ยวกับการประกอบกิจการเหมืองทองของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส  ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลีย (ทาฟต้า) ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ

นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า การยื่นคำเสนอข้อพิพาทนี้ เป็นขั้นตอนปกติในชั้นแรกของกระบวนการอนุญาโตตุลาการ และถือเป็นเพียงการใช้สิทธิของบริษัท คิงส์เกตฯ ภายใต้ความตกลงทาฟต้าเท่านั้น แต่ยังไม่มีการตัดสินชี้ขาด โดยระหว่างนี้คณะอนุญาโตตุลาการจะต้องรวบรวมข้อมูลและพิจารณาพยานหลักฐานโดยละเอียดจากทั้งสองฝ่าย ก่อนมีคำตัดสินชี้ขาดต่อไป ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณา โดยระหว่างกระบวนการอนุญาโตตุลาการนี้คู่กรณียังสามารถหารือเพื่อหาทางออกร่วมกันได้

สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้ คณะอนุญาโตตุลาการของไทยจะทำการพิจารณาข้อมูลคำฟ้องของคิงส์เกตว่าเป็นอย่างไรบ้าง และหลังจากนั้นจะ ส่งกลับไปยังคณะอนุญาโตตุลาการฝ่ายคิงส์เกต โดยคาดว่าจะต้องใช้เวลาในกระบวนการไต่สวนไม่ต่ำกว่า 2 ปี โดยคาดว่าจะมีการใช้กฎหมายของประเทศที่ 3 ที่มีการเข้าไปตั้งโต๊ะเจรจา โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเป็นสิงคโปร์ ขณะเดียวกันทางรัฐบาลไทยมีความพยายามเจรจา กับคิงส์เกตมาโดยตลอด แต่ก็ยอมรับว่ามีทั้งข้อที่รับได้และไม่ได้

"กพร.ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทยมีความมั่นใจไทยจะชนะแน่นอน โดยมีความพร้อมในการเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการและมั่นใจว่าการดำเนินการของรัฐบาลไทยเป็นมาตรการที่ถูกต้องสมควรแก่เหตุ ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ได้ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศแต่อย่างใด เพราะหากเราไม่มั่นใจว่าจะชนะก็ คงยอมแพ้ตั้งแต่แรก" นายวิษณุ กล่าว

สำหรับ บริษัท คิงส์เกตฯ เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท อัคราฯ ซึ่งประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ จ.พิจิตรและ จ.เพชรบูรณ์ โดยที่ผ่านมาประชาชนมีการร้องเรียนและคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำมาเป็นเวลานาน เพราะอาจส่งผลกระทบทำให้สิ่งแวดล้อมปนเปื้อน รัฐบาลจึงมีการออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระงับการอนุญาต และการทำเหมืองแร่ทองคำทั้งหมดในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนไว้ก่อน บริษัท คิงส์เกตฯ จึงใช้สิทธิตามทาฟต้าขอเจรจากับรัฐบาลไทย แต่ยังไม่ได้ข้อยุติจึงใช้สิทธิในการนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการในที่สุด

นายวิษณุ กล่าวว่า นโยบายแร่ทองคำของไทยตามยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ  ยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด การกำกับดูแลผลประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่รอบเหมืองทองคำ และการห้ามส่งออกโลหะที่ได้จากการขุดเจาะได้ในประเทศไปแต่งแร่ (รีไฟน์) ในโรงงานต่างประเทศ  ขณะเดียวกันยังมีคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) กำกับดูแลอีกด้วย โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่เหมาะสมเป็นธรรมต่อประเทศชาติ

"รายละเอียดของขั้นตอนอนุญาโต ตุลาการนั้นยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากมีความละเอียดอ่อนของข้อกฎหมาย หลังจากนี้ฝ่ายไทยต้องเตรียมข้อมูลรอบด้านเพื่อแก้ต่างคำฟ้องของ คิงส์เกต ขณะที่ฝ่ายกฎหมายของประเทศที่ 3 ที่จะเข้าไปตั้งโต๊ะเจรจา คือ สิงคโปร์ จะมีการเรียกผู้แทนทั้งสองฝ่ายเข้าไปให้ปากคำต่อไป" นายวิษณุ กล่าว

ภาพประกอบข่าว