posttoday

ล็อกซเล่ย์ปรับยุทธศาสตร์ ลุยเทคโนโลยีแห่งอนาคต

31 พฤษภาคม 2561

ล็อกซเล่ย์เดินหน้าปรับยุทธศาสตร์มุ่งกลุ่มไอทีโซลูชั่นในเชิงรุก พร้อมปรับโครงสร้างภายในองค์กรของกลุ่มไอที เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย

การลงทุนของภาคเอกชนและภาครัฐที่มุ่งสู่ไทยแลนด์ 4.0 เช่นเดียวกับล็อกซเล่ย์ที่เดินหน้าปรับยุทธศาสตร์มุ่งกลุ่มไอทีโซลูชั่นในเชิงรุก พร้อมปรับโครงสร้างภายในองค์กรของกลุ่มไอที เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงและจากผลกระทบของเทคโนโลยี

ศักดิ์ณรงค์ แสงสง่าพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ เปิดเผยว่า แนวทางธุรกิจนับจากนี้จะให้ความสำคัญกับไอทีโซลูชั่นในเชิงรุก เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของภาครัฐผลักดัน ไทยแลนด์ 4.0 เช่น การผลักดันให้ไทยก้าวสู่อี-เพย์เมนต์ อาทิ การใช้แมชีนสำหรับการชำระเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน รวมถึงการที่ภาคธุรกิจหันมาลงทุนเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นเพื่อก้าวสู่ยุคดิจิทัล ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจไอทีโซลูชั่นมีศักยภาพเติบโต

ขณะที่แนวโน้ม 3-5 ปีข้างหน้า กลุ่มฮาร์ดแวร์จะอยู่ในภาวะขาลง ดังนั้นบริษัทจึงต้องปรับตัว จากเดิมรายได้หลักมาจากกลุ่มฮาร์ดแวร์ 60% โดยลงทุนราว 100 ล้านบาท มุ่งเน้นการพัฒนาและวิจัยราว 30 ล้านบาท สำหรับการทำบิ๊กดาต้า การวิเคราะห์ข้อมูล ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ในกลุ่มอุปกรณ์ไอโอที การทดลองทำอี-วอลเลต ภายใต้โครงการล็อกซเล่ย์คอยน์ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าธนาคาร และงบอีก 70 ล้านบาท ลงทุนคลาวด์ ซึ่งจะเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าภาครัฐและองค์กรขนาดใหญ่

อย่างไรก็ดี บริษัทยังไม่มีแผนทำไอซีโอ เพื่อระดมทุน ต้องรอให้มีธุรกิจที่ชัดเจนก่อน นอกจากนี้ในระหว่างปี 2561-2563 บริษัทจะเข้าประมูลโครงการภาครัฐ 3-4 โครงการ มีมูลค่า 5,000 ล้านบาท คาดว่าจะประมูลได้ 2-3 โครงการ จากกรมสรรพสามิต กรมสรรพากร รวมมูลค่า 3,000-4,000 ล้านบาท อาทิ โครงการศูนย์รวมข้อมูลจากธนาคารต่างๆ สำหรับในปีนี้มีงานในมืออีก 2,200 ล้านบาท

"จุดแข็งของกลุ่มธุรกิจไอทีล็อกซเล่ย์ คือมีบุคลากรที่ได้รับใบรับรองด้านไอทีครอบคลุมทุกสาขาการให้บริการ ทำให้สามารถให้บริการครอบคลุมทุกระบบที่ลูกค้าต้องการ โดยวางเป้าหมายภายใน 3 ปีข้างหน้า สัดส่วนรายได้กลุ่มไอทีโซลูชั่นเพิ่มจาก 40% เป็น 60% และกลุ่มฮาร์ดแวร์จาก 60% เป็นเหลือ 40% เนื่องจากการเติบโตของกลุ่มธุรกิจฮาร์ดแวร์ซึ่งการเติบโตชะลอตัวลงราว 20% อย่างต่อเนื่อง" ศักดิ์ณรงค์ กล่าว

ในส่วนของกลุ่มธุรกิจไอทีได้ปรับโครงสร้างองค์กร โดยให้บริษัท ล็อกซบิท และบริษัท ล็อกซเล่ย์ ออบิท ดูแลลูกค้าในกลุ่มธุรกิจการเงิน การธนาคารและประกันภัย ส่วนบริษัท โปรเฟสชั่นนัล คอมพิวเตอร์ ดูแลลูกค้าภาคราชการ รัฐวิสาหกิจและธนาคารรัฐ ขณะที่บริษัท เน็ทวัน เน็ทเวิร์ค โซลูชั่น ดูแลธุรกิจด้านเน็กเวิร์ก ซีเคียวริตี้ และไซเบอร์ ซีเคียวริตี้

นอกจากนี้ ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนในบริษัท โปรเฟสชั่นนัล คอมพิวเตอร์ (พีซีซี) 100 ล้านบาท และบริษัท เน็ทวัน เน็ทเวิร์ค โซลูชั่น (เน็ท1) ราว 30 ล้านบาท สำหรับรายได้กลุ่มธุรกิจไอที 3,600 ล้านบาท หรือเติบโต 12% ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้กับบริษัท จากผลประกอบการรวมปีที่ผ่านมา 15,639 ล้านบาท เติบโต 11% แบ่งเป็นรัฐบาล 80% และองค์กรเอกชน 20%

ความต้องการไอทีโซลูชั่นที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในโลกดิจิทัล กลุ่มธุรกิจไอทีภายใต้ร่มเงาล็อกซเล่ย์ มีความพร้อมด้านธุรกิจจากการจัดทัพใหม่ เพื่อรับมือกับการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลของภาคเอกชนหรือกระทั่งภาครัฐอย่างเต็มตัว