posttoday

รฟท.แจงไม่มีล็อคสเปครถไฟไฮสปีดเชื่อม3สนามบิน

30 พฤษภาคม 2561

รฟท.ยันไม่ล็อคสเปครถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แจงตั้งคุณสมบัติสูงเพราะหวั่นรายเล็กทำโครงการสะดุด-ล่าช้า

รฟท.ยันไม่ล็อคสเปครถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แจงตั้งคุณสมบัติสูงเพราะหวั่นรายเล็กทำโครงการสะดุด-ล่าช้า

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เปิดเผยว่า ในวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมานั้นรฟท.ได้ออกประกาศเชิญชวนการคัดเลือกเอกชนการร่วมลงทุนกับเอกชนในกิจการของรัฐ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งตามที่รฟท.และอีอีซีได้ประกาศเงื่อนไขผู้เข้าร่วมประมูลไว้บนเว็บไซต์ ซึ่งได้ระบุว่า

คุณสมบัติของผู้ยื่นเสนอ จะเป็นนิติบุคคลรายเดียว หรือ นิติบุคคลหลายรายรวมกันเป็นกิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ หรือ นิติบุคคลหลายรายรวมกันก็ได้แต่ต้องมีนิติบุคคลไทยอย่างน้อย 1 ราย พร้อมมีสัดส่วนการลงทุนเกินกว่า 25% ของทั้งหมด โดยคุณสมบัติด้านการเงินนั้นมูลค่าสุทธิของกิจการ (Net Worth) โดยผู้ยื่นข้อเสนอเป็นรายเดียวต้องมีมูลค่าสุทธิของกิจการรายปี โดยคิดเฉลี่ยในรอบระยะเวลา 3 ปี ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท หรือ ผู้ยื่นข้อเสนอเป็นกิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนใหม่ หรือจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ สมาชิกแต่ละรายที่นำมาคำนวณคุณสมบัติด้านการเงินต้องมีมูลค่าสุทธิของกิจการรายปี เฉลี่ยในรอบระยะเวลา 3 ปีไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาทและรวมกันทั้งหมดจะต้องไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีประสบการณ์ด้านงานออกแบบ โครงสร้างทางรถไฟยกระดับ หรือ โครงสร้างทางรถไฟใต้ดิน หรือโครงสร้างทางยกระดับ ที่มีมูลค่างานก่อสร้างในสัญญาเดียว หรือหลายสัญญารวมกันไม่น้อกกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว โดยแต่ละสัญญาที่จะนำมารวมกันต้องมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว และผลงานดังกล่าวต้องแล้วเสร็จเป็นเวลาไม่เกิน 20 ปีนับถึงวันที่ยื่นข้อเสนอ รวมทั้งต้องมีประสบการณ์ด้านงานก่อสร้าง โครงการรถไฟยกระดับ หรือโครงสร้างทางรถไฟใต้ดิน หรือโครงสร้างทางยกระดับ ที่มีมูลค่างานสัญญาเดียวหรือหลายสัญญษรวมกันไม่น้อกว่า 7,000 ล้านบาทรวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว และผลงานต้องแล้วเสร็จเป็นเวลาไม่เกิน 20 ปี นับถึงวันที่ยื่นข้อเสนอ และต้องมีประสบการณ์ด้านการบูรณาการงานระบบเครื่องกลและไฟฟ้า (System Integration) ของรถไฟความเร็วสูง ประกอบด้วยงานอาณัติสัญญาณ งานโทรคมนาคม งานไฟฟ้า งานวางราง และงานศูนย์ซ่อมบำรุง ทุกระบบรวมกันมีมูลค่างานระบบ สัญญาเดียวหรือหลายสัญญารวมกันไม่น้อยกว่า 7,000 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ผลงานต้องแล้วเสร็จเป็นเวลาไม่เกิน 20 ปี นับถึงวันที่ยื่นข้อเสนอ

นายวรวุฒิกล่าวต่อว่าการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวนั้นมิใช่เป็นการเอื้อผลประโยชน์หรือล็อคสเป็กแต่อย่างใด เนื่องจากโครงการนี้เป็นรถไฟความเร็วสูงเส้นทางแรกจึงถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย อีกทั้งยังกำหนดทีโออาร์ให้มีผู้ชนะโครงการเพียงรายเดียวทั้งด้านงานก่อสร้างและงานระบบรวมถึงจัดหารถไฟ ดังนั้นรฟท.จึงต้องการบริษัทเอกชนรายใหญ่ไม่ใช่รายเล็ก เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าเมื่อได้เข้ามาดำเนินการแล้วจะไม่มีข้อผิดพลาดปัญหาทั้งเรื่องการเงินและบุคลากรจนต้องทำให้โครงการล่าช้าตลอดจนเลื่อนเปิดให้บริการออกไปอีก

ด้านรายงานข่าวจากรฟท.ระบุว่าสำหรับด้านการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์นั้นเงื่อนไขได้กำหนดว่า การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการ ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีประสบการณ์ทางด้านการเป็นผู้บริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ (Property Management) หรือการเป็นผู้พัฒนา (Developer) ของอาคารขนาดใหญ่พิเศษที่มีขนาดพื้นที่อาคารไม่น้อยกว่า 10,000 ตารางเมตร ทั้งอาคาสำนักงานประเภทอาคารสูง อาคารพักอาศัยประเภทอาคารสูง โรงแรม อาคารพาณิชยกรรม อาคารอเนกประสงค์เพื่อการประชุม โรงพยาบาล โดยต้องมีประสบการณ์บริหารกิจการอย่างน้อย 1 ประเภทและต้องมีอีกหนึ่งประเภทที่ไม่ซ้ำกัน โดยมีระยะเวลาการบริหารกิจการอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือผู้ยื่นข้อเสนอเป็นผู้พัฒนา ต้องมีประสบการณ์การเป็นผู้พัฒนากิจการ อย่างน้อย 1 ประเภทและต้องมีอีกอย่างน้อย 1 ประเภทที่ไม่ซ้ำกัน โดยมีมูลค่าการลงทุน ไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาทซึ่งรวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว

อย่างไรก็ตามรฟท.จะจัดประชุมชี้แจงจำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกในวันที่ 23 ก.ค.61 และ 24 ก.ย.61 หลังจากนั้นจะเปิดให้มีการส่งข้อสังเกต ข้อเสนอแนะ หรือคำถามเกี่ยวกับเอกสารการคัดเลือกเอกชน ในวันที่ 10 ก.ค.- 9 ต.ค. 61 ตามกำหนดการรฟท.จะเปิดให้มีการรับซองข้อเสนอในวันจันทร์ที่ 12 พ.ย.61 เวลา 9.00 -15.00น. โดยผู้ยื่นข้อเสนอต้องยื่นหลักประกันซองพร้อมกับการซื้อซองเอกสารข้อเสนอ มูลค่า 2,000 ล้านบาทและต้องชำระค่าธรรมเนียมการประเมินข้อเสนอให้แก่ รฟท. เป็นจำนวนเงิน 2 ล้านบาท และกำหนดให้เปิดซองผู้ยื่นข้อเสนอวันที่ 13 พ.ย.61 เวลา 10.00 น.ณ สำนักงานโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ มักกะสัน