posttoday

ย้ำขาดดุลหนุนเศรษฐกิจโต

29 พฤษภาคม 2561

ครม.ผ่านแผนการคลังระยะ 3 ปี ตีกรอบวินัยการคลังภาครัฐ ย้ำนโยบายขาดดุลหนุนการลงทุนโต ยอดหนี้สาธารณะพุ่ง9.28ล้านล.ปี2564

ครม.ผ่านแผนการคลังระยะ 3 ปี ตีกรอบวินัยการคลังภาครัฐ ย้ำนโยบายขาดดุลหนุนการลงทุนโต ยอดหนี้สาธารณะพุ่ง9.28ล้านล.ปี2564

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2561 ได้เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง ระยะ 3 ปี (ปี 2562-2564) และกรอบการบริหารหนี้สาธารณะตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังภาครัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา และบังคับให้ต้องมีการจัดทำแผนการคลังระยะปานกลางจากเดิมที่ประเทศไม่เคยมีแผนเลย

"ในระยะสั้นปี 2561 รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจผ่านการจัดทำงบประมาณขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 4.5 แสนล้านบาท ในปี 2561-2562 ส่วนเป้าหมายระยะปานกลางให้ความสำคัญกับการบริหารรายได้และรายจ่ายให้อยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีและการปรับอัตราภาษีที่เหมาะสม" นายณัฐพร กล่าว

ทั้งนี้ ในการจัดทำแผนการคลังระยะปานกลางนี้ได้ประเมินการเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 2561 ที่ 4.2-4.7% ปี 2562 อยู่ที่ 3.9-4.9% ขณะที่ปี 2563-2564 อัตราการเติบโตอยู่ที่ 3.5-4.5%

ขณะที่ความสามารถการจัดเก็บรายได้จะเพิ่มขึ้นจาก 2.45 ล้านล้านบาท ในปี 2561 เป็น 2.55, 2.74 และ 2.77 ล้านล้านบาท ในปี 2562-2564 ตามลำดับ ขณะที่การขาดดุลงบประมาณยังต่อเนื่องจากปี 2561 และ 2562 จาก 4.5 แสนล้านบาท ปี 2563-2564 อยู่ที่ 4.52 แสนล้านบาท และ 5.24 แสนล้านบาท ตามลำดับ

นอกจากนี้ ได้ประเมินจำนวนหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้นจาก 6.92 ล้านล้านบาท หรือสัดส่วน 42.6% ต่อจีดีพี ในปี 2561 จะขึ้นไปอยู่ที่ 9.28 ล้านล้านบาท หรือ 47% ในปี 2564

"จากข้อมูลประมาณการจะเห็นว่าจำนวนการขาดดุลและหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่จากแผนการคลังที่ให้ความสำคัญกับการลดรายจ่ายประจำและการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ จะทำให้เริ่มเห็นการขาดดุลงบประมาณลดลงในปี 2565 และสมดุลในระยะต่อไป" นายณัฐพร กล่าว

นอกจากนี้ ภายใต้แผนฉบับนี้ได้มีการกำหนดให้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง เช่น การมีสัดส่วนหนี้สาธารณะไม่เกิน 60% ของจีดีพี สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลไม่เกิน 35% ของประมาณการรายได้ประจำปี หนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศไม่เกิน 10% ของหนี้สาธารณะ สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศไม่เกิน 5% ของรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ

นายณัฐพร กล่าวว่า ครม.ยังได้เห็นชอบ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2562 ภายใต้กรอบการใช้จ่ายวงเงิน 3 ล้านล้านบาท หลังจากนี้จะได้นำเสนอสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเด็นที่ทำให้สถาบันไอเอ็มดีจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยปีนี้ลดลง 3 อันดับ จากอันดับที่ 27 ไปอยู่อันดับที่ 30 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการปรับปรุงประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนขีดความสามารถแข่งขันประเทศให้ดีขึ้น

"กรณีประเทศไทยจัดทำงบประมาณขาดดุล ซึ่งในส่วนนี้ในปีต่อไปคงยังไม่ปรับดีขึ้น เนื่องจากไทยมีความจำเป็นต้องลงทุนอีกมากเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต" นายกอบศักดิ์ กล่าว