posttoday

"ธีระชัย"ชี้คสช.มองปัญหาน้ำมันผิดจุด แนะแก้โครงสร้างธุรกิจน้ำมันของไทย

28 พฤษภาคม 2561

อดีตรมว.คลังชี้รัฐบาลคสช.มองปัญหาน้ำมันผิดจุด แนะแก้ไขที่โครงสร้างธุรกิจน้ำมันของไทยที่สะสมมานาน เผยประชาชนจ่ายแพงเพราะแต่ละห่วงโซ่ในธุรกิจกำไรอื้อ

อดีตรมว.คลังชี้รัฐบาลคสช.มองปัญหาน้ำมันผิดจุด แนะแก้ไขที่โครงสร้างธุรกิจน้ำมันของไทยที่สะสมมานาน เผยประชาชนจ่ายแพงเพราะแต่ละห่วงโซ่ในธุรกิจกำไรอื้อ

เมื่อวันที่ 28 พ.ค. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กThirachai Phuvanatnaranubala แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาราคาน้ำมัน โดยระบุว่า ปัญหาราคาน้ำมันในไทยอยู่ที่โครงสร้างธุรกิจน้ำมันที่แต่ละห่วงโซ่ของธุรกิจมีกำไรมากทำให้ราคาปลายโซ่ที่ประชาชนต้องจ่ายสูงขึ้นไปด้วย

เนื้อหาทั้งหมดมีดังนี้

"รัฐบาล คสช. มองปัญหาน้ำมันผิดจุด"

"เมื่อวันที่ 21 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความห่วงใยถึงปัญหาราคาน้ำมันที่มีราคาสูงขึ้น.... ว่า

ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นในขณะนี้เป็นไปตามราคาตลาดโลก จาก 50 เหรียญสหรัฐอเมริกาต่อบาร์เรล เป็นกว่า 70 เหรียญสหรัฐอเมริกาต่อบาร์เรล ซึ่งรัฐบาลไม่ได้อยากให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น.... "

คำกล่าวอย่างนี้ แสดงชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่เข้าใจว่า วิธีแก้ปัญหาเรื่องน้ำมันในไทย ต้องแก้ที่โครงสร้างก่อน

แต่ทั้งนี้ เนื่องจากท่านเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทพลังงานแห่งหนึ่งหลายปี บางคนจึงวิจารณ์ว่า ท่านแกล้งไม่เข้าใจหรือเปล่า?

ต้องยอมรับว่า ปัญหาโครงสร้างธุรกิจน้ำมันสะสมมาตั้งแต่ก่อนหน้า พล.อ.ประยุทธ์

และต้องเริ่มต้นก่อนว่า ห่วงโซ่ในธุรกิจน้ำมันนั้น ประกอบด้วยหลายข้อ โดยโซ่ข้อที่สำคัญคือ ผู้ซื้อนำเข้าน้ำมันดิบ ผู้กลั่น ผู้ค้าส่ง ผู้ขนส่ง และผู้ขายส่งขายปลีก

ยิ่งโซ่แต่ละข้อกำไรมาก ราคาปลายโซ่ที่ประชาชนต้องจ่าย ก็จะสูงไปด้วย

จึงมีปัญหาว่า รัฐบาลไทยควรจะบริหารจัดการอย่างไร เพื่อให้เป็นธรรมแก่ทุกห่วงโซ่ และแก่ประชาชนด้วยพร้อมกัน

บางประเทศปล่อยให้กลไกตลาดเป็นเครื่องมือหลัก แต่ประเทศที่จะปล่อยเช่นนี้ 100% ได้นั้น ธุรกิจต้องแข่งขันกันเสรีตลอดหวงโซ่

แต่สำหรับประเทศที่บางห่วงโซ่ยังมีอำนาจผูกขาดนั้น ถ้ารัฐบาลปล่อยให้กลไกตลาดเป็นเครื่องมือหลัก ประชาชนก็จะตายลูกเดียว ...

เพราะประชาชนที่อยู่ปลายห่วงโซ่นั้น ไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น แพงแค่ไหน ก็ต้องใช้

ดังนั้น ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะชี้เป้าไปที่ราคาตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น ท่านควรจะถามทีมงานของท่านว่า ...

กลไกการบริหารจัดการให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ที่ใช้อยู่ในประเทศไทย เหมาะสมหรือไม่?

พูดง่ายๆ ท่านควรตั้งคำถามก่อนว่า กำไรโรงกลั่น และค่าการตลาด ที่กำหนดในไทยนั้น สูงเกินไปหรือไม่?

ผมจะไม่เฉลยนะครับ ว่าสูงเกินไปหรือเปล่า ...

แต่ขอบอกว่า กรณีที่น้ำมันในไทยมีการกลั่นที่ระยอง แต่เปิดให้โรงกลั่นสามารถตั้งราคาขายอิงราคาตลาดสิงคโปร์บวกค่าใช้จ่ายเทียมในการนำเข้า เช่น ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ...

เสมือนหนึ่งว่านำเข้าจากสิงคโปร์ ...

ทั้งที่ไม่มีใครในไทยที่ควักกระเป๋า ค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายนำเข้า สำหรับน้ำมันสำเร็จรูป นั้น

กรณีที่มีการใช้นโยบายอย่างนี้ ย่อมจะมีผลเป็นการกางร่มให้แก่บริษัทในไทย ที่กางในระดับสูง

ยิ่งกางร่มในระดับสูง ผู้ที่ทำธุรกิจ ก็ยิ่งยืนตรงได้อย่างสบาย ไม่ต้องย่อตัว ไม่ต้องเมื่อยหลัง

กำไรแต่ละห่วงโซ่ก็จะยิ่งเบ่งออกได้มาก และจะยิ่งทำให้ประชาชนผู้บริโภคเดือดร้อน

นอกจากนี้ ขณะนี้ประชาชนต้องแบกภาระอีกอย่างหนึ่ง จากการที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

แต่ผลงานของกองทุนนี้เป็นที่น่าสงสัย และสมัยนี้ รัฐไม่จำเป็นต้องกระตุ้นเพื่อให้ประชาชนขวนขวายอนุรักษ์พลังงานแล้ว

ผมจึงขอเสนอแนะให้ยกเลิกกองทุนนี้ได้แล้ว

ดังนั้น ก่อนที่ท่านจะชี้เป้าไปที่สถานการณ์โลก ท่านควรจะเก็บกวาดบ้านให้เรียบร้อยเสียก่อน