posttoday

ห้ามจานด่วนขึ้นราคาเหตุต้นทุนขยับแค่15-20สตางค์ ลุยจัดงานช่วยลดค่าครองชีพ

24 พฤษภาคม 2561

"สนธิรัตน์" เบรกจานด่วนขึ้น 5 บาท วอนประชาชนแจ้งเบาะแส หากพบปรับราคาไม่เป็นธรรม เตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบสินค้า 24 พ.ค.นี้

"สนธิรัตน์" เบรกจานด่วนขึ้น 5 บาท วอนประชาชนแจ้งเบาะแส หากพบปรับราคาไม่เป็นธรรม เตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบสินค้า 24 พ.ค.นี้

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า การปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) 395 บาท/ถัง (15 กิโลกรัม (กก.)) หรือปรับขึ้น 42 บาท/ถัง กระทบต้นทุนของอาหารปรุงสำเร็จ (จานด่วน) ปรับขึ้นประมาณ 15-20 สตางค์/จาน/ชาม เท่านั้น จึงไม่มีเหตุผลที่ผู้ประกอบการอาหารจานด่วนจะปรับขึ้นราคา 5 บาท/จาน/ชาม ซึ่งหากประชาชนพบเห็นการปรับขึ้นราคาอาหารจานด่วน ขอให้แจ้งมาที่สายด่วน 1569 โดยกรมการค้าภายในจะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปจัดการตามกฎหมายต่อไป

"ได้ให้กรมการค้าภายในจัดสายตรวจออกตรวจสอบราคาอาหารอย่างใกล้ชิด และขอให้ประชาชนช่วยแจ้งเบาะแสมาให้กระทรวงพาณิชย์ด้วย เพราะผลศึกษาพบว่าข้าวกะเพรามีต้นทุนค่าก๊าซที่เพิ่มขึ้นไม่ถึง 15-20 สตางค์ ดังนั้นพ่อค้าแม่ค้าก็ไม่น่ากระทบ เพราะถือว่าต้นทุนขึ้นน้อยมากที่จะปรับราคาขายปลีกขึ้นมา" นายสนธิรัตน์ กล่าว

สำหรับการปรับขึ้นราคาของน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นต้นทุนของภาคการขนส่งสัดส่วนประมาณ 30-40% นั้น มีผลต่อต้นทุนขายปลีกสินค้าไม่เกิน 0.5% โดยสินค้าที่มีน้ำหนักมากสุดกระทบ 0.5% และสินค้าที่น้ำหนักน้อยสุดกระทบ 0.003% ซึ่งหากผู้ประกอบการจะปรับขึ้นราคาจะพิจารณาว่าสอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ และในวันที่ 24 พ.ค. จะลงพื้นที่ตรวจสอบราคาก๊าซหุงต้ม การจำหน่ายอาหารจานด่วน และสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อประเมินสถานการณ์ และในวันที่ 25 พ.ค. จะหารือร่วมกับผู้ผลิตสินค้า (ซัพพลายเออร์) เพื่อสอบถามต้นทุนและประเมินสถานการณ์เช่นกัน

"หากผู้ผลิตสินค้าอั้นไม่ไหวก็ขอปรับราคาเข้ามาได้ โดยกระทรวงจะยึดหลักความเหมาะสมของราคาที่ปรับและต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องหรือไม่" นายสนธิรัตน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกับร้านค้าส่งค้าปลีกขนาดใหญ่ ทั่วประเทศ ผู้ผลิต และผู้แทนจำหน่าย (ซัพพลายเออร์)  สินค้าอุปโภค-บริโภค จัดงาน "ค้าส่งรวมใจ โชห่วยไทยคู่สังคม" ต้อนรับหน้าฝน 2 ช่วง แบ่งเป็นช่วงที่ 1 ระหว่างวันที่ 25-30 มิ.ย. 2561 และช่วงที่ 2 ระหว่างวันที่ 11-15 ส.ค. 2561 ภายในร้านค้าปลีกค้าส่งที่เข้าร่วมโครงการ โดยจะมีการลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภค 20-50% เพื่อบรรเทาค่าครองชีพให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย พร้อมส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาจับจ่ายใช้สอยในร้านค้าส่งค้าปลีกแบบดั้งเดิม (โชห่วย) ในท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชนระยะยาว

"เป็นการสร้างความเข้มแข็งที่แท้จริงให้เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจชุมชน และก่อให้เกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นจะส่งผลให้ประชาชน ผู้บริโภค ตระหนักถึงความสำคัญของธุรกิจค้าส่ง-ปลีกไทยแบบดั้งเดิม และสร้างความสนใจให้เกิดขึ้นกับคนสมัยใหม่ ในการเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีกโชห่วยท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น คาดว่าการจัดงานทั้งสองช่วงนี้จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ไม่น้อยกว่าครั้งละ 500 ล้านบาท รวม 2 ครั้ง เป็น 1,000 ล้านบาท" นายสนธิรัตน์ กล่าว

นอกจากนี้ ประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้รับประโยชน์จากการลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในครั้งนี้ เนื่องจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่เป็นร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ที่กระทรวงพาณิชย์ให้การสนับสนุนและ ติดตั้งเครื่องรูดบัตร (อีดีซี) เรียบร้อยแล้ว ซึ่งผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถนำบัตรมาจับจ่ายซื้อสินค้าได้ รวมถึงร้านค้าปลีกขนาดเล็กก็จะได้รับประโยชน์จาก การซื้อสินค้าในราคาต้นทุนที่ลดลงจากร้านค้าส่งขนาดใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการ ส่งผลให้สามารถนำไปจำหน่ายต่อให้กับผู้บริโภคได้ในราคาที่ถูกลง