posttoday

รถบรรทุกขอขึ้นค่าขนส่ง5% หลังราคาดีเซลใกล้แตะ30บาท

22 พฤษภาคม 2561

ผู้ประกอบการรถบรรทุกชงขอขึ้นค่าขนส่ง 5% หรือราว 250 ต่อ 100 กม.หลังราคาน้ำมันพุ่ง ยันไม่กระทบราคาสินค้าบริโภค

ผู้ประกอบการรถบรรทุกชงขอขึ้นค่าขนส่ง 5% หรือราว 250 ต่อ 100 กม.หลังราคาน้ำมันพุ่ง ยันไม่กระทบราคาสินค้าบริโภค

ดร.ทองอยู่ คงขันธ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากราคาน้ำมันดีเซลที่เพี่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเกือบทะลุ 30 บาท ส่งผลให้ผู้ประกอบการรถบรรทุกต้องแบกรับภาระต้นทุนด้านพลังงานที่สูงจนเกินไปอีกทั้งที่ผ่านมาไม่เคยขมีการปรับขึ้นมาเกิน 10 ปีแล้ว โดยการปรับราคาค่าขนส่งล่าสุดเมื่อปี 2559 ได้ปรับลดลงมา 10% ส่งผลให้ราคาวัสดุก่อสร้างละลง 13% ภายหลังจากการประชุมหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการทั่วประเทศเมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมามีมติร่วมกันว่าให้เตรียมชงเรื่องเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอปรับขึ้นราคาค่าขนส่งสินค้าผ่านรถบรรทุก 5%

เมื่อเปรียบเทียบราคาค่าขนส่งมาตรฐานประเภทรถ 10 ล้อ บรรทุก 18 ตันซึ่งเป็นรถบรรทุกที่มีสัดส่วนมากที่สุดในภาคขนส่งนั้นจะพบว่าการขึ้นราคาในครั้งนี้จะเพิ่มต้นทุนให้กับการขนส่งราว 250 บาทต่อ 100 กิโลเมตร จากเดิมที่การขนส่งรถบรรทุกประเภทนี้อยู่ที่ราว 5,000 บาท ต่อ 100 กม.ต่อเที่ยววิ่ง(ไป-กลับ) อย่างไรก็ตามตนมั่นใจว่าการปรับขึ้นราคาในครั้งนี้จะไม่กระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคและวัตถุดิบการก่อสร้างเนื่องจากเป็นสัดส่วนที่ไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยะสำคัญต่อต้นทุนรวม โดยเฉพาะเมื่อนำมาคิดราคาเฉลี่ยต่อกิโลกรัมแล้วอยู่ที่ราว 0.0014 บาท ซึ่งยังไม่ถึงครึ่งสตางค์เลยด้วยซ้ำ จึงแน่ใจว่าผู้ประกอบการและผู้ขายสินค้าจะไม่สามารถนำเหตุผลดังกล่าวมาอ้างกับประชาชนได้

ดร.ทองอยู่ กล่าวอีกว่า ปัญหาราคาน้ำมันดีเซลพุ่งสูงขึ้นนั้นกระทบต่อภาคการขนส่งสินค้าอย่างมากโดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดซึ่งราคาน้ำมันดีเซลจะรวมค่าขนส่งและภาษีท้องถิ่นด้วยทำให้ผู้ประกอบการในท้องถิ่นต้องแบกรับภาระมากกว่าเดิม ดังนั้นนอกจากจะพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นราคาแล้วยังต้องการเสนอให้รัฐบาลนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีอยู่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท นำออกมาพยุงราคาช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ควบคู่ไปกับการทยอยปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่ให้กระทบกับภาพรวมการขนส่ง ซึ่งตัวเลขที่ผู้ประกอบการมองว่าราคาดีเซลที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 25 บาทต่อลิตร

ดร.ทองอยู่กล่าวอีกว่าได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) โครงการความร่วมมือในการพัฒนาผู้ขับขี่รถบรรทุกและรถโดยสารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและความปลอดภัยในธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ( Eco Driver Saving Energy ) กับกรมการขนส่งทางบกและกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อพัฒนาผู้ขับขี่ตามแนวทางประหยัดพลังงานภาคขนส่งคาดว่าจะประหยัดพลังงานรวม 500 ล้านบาทต่อปี พร้อมเป้าหมายสร้างบุคลากรขับขี่ประมาณ 5,000 คน