posttoday

รัฐเดินถูกทางเร่งแก้'ไอยูยู'ลุยปรับเรือ6ลำ

22 พฤษภาคม 2561

กรมประมงมั่นใจไทยแก้ไอยูยูถูกจุด คุมเข้มการบังคับใช้กฎหมาย ล่าสุดศาลสั่งปรับเงินเรือที่ทำผิด 400 ล้าน

กรมประมงมั่นใจไทยแก้ไอยูยูถูกจุด คุมเข้มการบังคับใช้กฎหมาย ล่าสุดศาลสั่งปรับเงินเรือที่ทำผิด 400 ล้าน

นายอดิศร  พร้อมเทพ  อธิบดีกรมประมง  เปิดเผยว่า  ขณะนี้การแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (ไอยูยู) ของไทยมีความก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะมาตรการทางกฎหมายที่มีการสั่งฟ้องดำเนินคดี และศาลได้มีการตั้งองค์คณะพิจารณาทำให้การสั่งคดีเร็วขึ้น ซึ่งล่าสุดได้สั่งปรับเรือประมง 6 ลำ สูงถึง 400  ล้านบาท เนื่องจากทำผิดหลักเกณฑ์การจับทูน่าของคณะกรรมาธิการปลาทูน่าแห่งมหาสมุทรอินเดีย (IOTC)

"สิ่งที่ดำเนินการมาแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเอาจริงกับการแก้ไขปัญหา โดยเรือประมงที่ทำผิด 6 ลำประกอบด้วย  เรือฮงซิพุ 68  เรือยู่หลง 6  เรือยู่หลง 125  รวมค่าปรับ 130 ล้านบาท  เรือเซริบู ค่าปรับ 88  ล้านบาท เรือมุกอันดามัน 018  เรือมุกอันดามัน 028 ค่าปรับ 2 ลำรวม 223 ล้านบาท" นายอดิศร กล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้แก้ไขกฎหมายจนออกมาเป็นพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรทะเลให้เกิดความยั่งยืนและป้องกันการทำประมงที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐได้กำหนดขึ้น อาทิ มาตรการปิดอ่าวฯ  มาตรการควบคุมการลงแรงประมง  การควบคุมเครื่องมือที่ใช้ทำการประมง  การกำหนดค่าศักยภาพการจับสัตว์น้ำ มาตรการให้เรือที่มีขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไปติดตั้งระบบระบุตำแหน่งเรือประมงไทย  การควบคุมการแจ้งเข้าออกเรือประมง เป็นต้น

ด้านปัญหาแรงงานประมงในปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดกฎหมายแรงงานที่เข้มงวด ดังนั้นการแสดงความเห็นของแต่ละฝ่ายที่พิจารณาเรื่องเหล่านี้ ต้องพิจารณาจากรอบด้านด้วย เช่น กรณีเวลาพักของแรงงานประมง  มีการกำหนดให้ไต๋เรือ (ผู้ควบคุมเรือ) มีการจัดทำหลักฐานเวลาพักของแรงงาน  เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานดำเนินการตรวจสอบ และมีการสุ่มตรวจการทำงานของเจ้าหน้าที่ และหากเห็นว่ามีที่ไหนไม่ปฏิบัติขอให้แจ้ง เพื่อที่หน่วยงานตรวจสอบจะได้เข้าไปดำเนินการทันที

ภาพประกอบข่าว