posttoday

ทำอย่างไร ทีมไม่เวิร์ก

19 พฤษภาคม 2561

ทีมที่มีความแตกต่างกันและใช้ความแตกต่างให้เกิดประโยชน์

โดย... ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ

ทีมที่มีความแตกต่างกันและใช้ความแตกต่างให้เกิดประโยชน์ เช่น ร่วมกันระดมสมองหาทางแก้ไขปัญหา ทำให้เราเห็นมุมมองที่แตกต่าง และนำไปสู่คำตอบในการแก้ไขปัญหานั้นได้ดีที่สุด ในขณะที่ผู้นำทีมตระหนักดีว่าสมาชิกในทีมควรมีความแตกต่างกันเพื่อประโยชน์ดังกล่าว แต่การบริหารจัดการให้คนที่แตกต่างกันคุยกันได้ และทีมก้าวข้ามความขัดแย้งที่ไม่สร้างสรรค์ก็ไม่ง่ายเสมอไป และขึ้นอยู่กับนิสัยใจคอสมาชิกของทีมด้วย

หากเราเป็นผู้นำของทีม การเข้าใจพฤติกรรมของทีมงานแต่ละคนจะช่วยให้เราแนะนำสไตล์ที่เหมาะสมต่อชิ้นงานหรือสถานการณ์ได้ เพราะส่วนใหญ่สมาชิกในทีมมักมีพฤติกรรมหนักไปด้านใดด้านหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อมีความกดดันด้านเวลาและทรัพยากรที่จำกัดเข้ามาเป็นเงื่อนไข ลองมาดู 4 สไตล์พฤติกรรมของสมาชิกในทีมที่แตกต่างกัน

สไตล์นักผจญภัย สังเกตได้จากเป็นคนที่มักสงสัย ซักไซ้ทั้งเป้าหมาย วิธีการ ขั้นตอน หรือแม้แต่จรรยาบรรณของทีม พร้อมจะโต้แย้งและแสดงให้เห็นว่าคิดไม่เหมือนใคร มักกระตุ้นให้ทีมกล้าทำ กล้าเสี่ยงมากกว่า รีๆ รอๆ

สไตล์นักวิเคราะห์ เน้นการปฏิบัติตามภารกิจเป็นหลัก ชอบค้นหาและศึกษาข้อมูล และให้ข้อมูลกับทีม มักทำการบ้านมาก่อน ใช้ทรัพยากรอย่างรอบคอบ และผลักดันเพื่อมาตรฐานสูงในการทำงาน

สไตล์นักสร้างสัมพันธ์ ให้ความสำคัญในกระบวนการการทำงานร่วมกัน รับฟังผู้อื่น ทำให้ทีมงานทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วม สนับสนุนการฟังความคิดเห็นของทุกคนก่อนจะตัดสินใจอะไร ชอบบรรยากาศสบายๆ ไม่ต้องทางการมาก มักเป็นผู้ที่สัมผัสบรรยากาศที่เริ่มไม่สร้างสรรค์ได้เร็ว และพยายามไกล่เกลี่ยความขัดแย้งต่างๆ ในทีม

สไตล์นักพัฒนาทีม ให้ความสำคัญกับเป้าหมายในการทำงานของทีม และวิสัยทัศน์ของทีม เปิดรับและสนใจใคร่รู้ความคิดใหม่ๆ และยินดีที่จะทำงานที่นอกเหนือจากหน้าที่ความรับผิดชอบที่ได้ถูกระบุไว้เมื่อจำเป็น ไม่จำเป็นต้องเด่นกว่าใครในทีม ทำงานโดยคำนึงถึงการสนับสนุนให้ทีมร่วมงานกันเพื่อส่วนรวม

แต่ละสไตล์มีจุดอ่อนและจุดแข็งของผู้ร่วมทีมที่ดีที่ต่างกันไป ในกรณีที่เป็นเรื่องของสไตล์ที่แตกต่าง ผู้นำทีมสามารถจะนำให้ทีมโฟกัสไปที่จุดแข็งของแต่ละสไตล์ และให้อภัยในจุดอ่อนที่เจ้าตัวอาจแสดงออกมาโดยไม่รู้ตัว อย่างไรก็ตาม หากไม่ใช่เรื่องสไตล์ แต่เป็นเพราะพฤติกรรมไม่สร้างสรรค์บางประการดังต่อไปนี้ของสมาชิกในทีม ผู้นำทีมก็คงจะต้องโค้ชหรือคุยความคาดหวังของพฤติกรรมที่อยากให้เป็น

พฤติกรรมถ่วงความสำเร็จของทีม และแนวทางการรับมือ

ขี้บ่น ขี้น้อยใจ ไม่เคยพึงพอใจกับอะไรเลย ในการโค้ชกลุ่มนี้ แนวทางคือ ถามให้แน่ใจถึงความคิดที่กระตุ้นการแสดงออกเช่นนั้น และร่วมกันหาแนวทางใหม่ๆ ในการปรับความคิด ช่วยให้เห็นความสำคัญของการรักษาทัศนคติเชิงบวก อนาคต และการปรับที่ความคิดของตนเองก่อน

รู้ทุกเรื่อง พูดเยอะแต่ไม่ฟัง  แนวทางการโค้ชคือ สนับสนุนให้ใส่ใจความคิดเห็นผู้อื่น ให้ฝึกถามความคิดเห็นของเพื่อนร่วมทีม ฝึกให้ชื่นชมผู้อื่นในการทำงานร่วมกัน

คิดดัง สั่งแหลก ต้องการให้ความคิดเห็นของตนเป็นที่ยอมรับก่อน โดยผู้อื่นควรตีความให้ถูกด้วย เพราะเขาจะทั้งพูดตรง พูดดัง และชัดเจน ผู้นำทีมควรแสดงให้เห็นว่าผู้นำให้ความสำคัญกับการรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนร่วมทีมทุกคน

ชวนทะเลาะ เชื่อว่าตนเองทำงานได้ดีท่ามกลางความสับสนอลหม่าน กรณีนี้ควรเรียกคุยตัวต่อตัว เพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกันว่าเมื่อใดที่ความขัดแย้งเป็นประโยชน์และเมื่อใดที่ไม่จำเป็น

พวกกรรไกร ชอบตัด แบ่งแยก แบ่งพรรคแบ่งฝ่าย ผู้นำทีมไม่ควรเข้าร่วมกับฝักฝ่ายใด เรียกคุยตัวต่อตัว เพื่อให้เห็นถึงผลเสียที่ตามมา ที่จะมาถึงตัวเขาเองได้ในวันข้างหน้า

พวกลูกโป่ง ลอยไปลอยมา ซึ่งอาจมาจากไม่มั่นใจในหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเองและทิศทางการทำงานของทีม ผู้นำทีมควรให้รายละเอียดของบทบาทในทีมให้ชัดเจน กล่าวให้ทราบถึงความสำคัญของแต่ละคนในทีมต่อความสำเร็จของงาน

พฤติกรรมที่ส่งเสริมความสำเร็จของทีม เช่น หนึ่ง สื่อสารตรงไปตรงมา แต่ก็รับฟังผู้อื่นอย่างเต็มใจ และจริงใจ สอง จัดระเบียบงานและความคิดของตน เพื่อไม่ให้ผู้ร่วมทีมคนอื่นเสียเวลา พัฒนาตนเองให้เชี่ยวชาญในงาน แต่ยืดหยุ่นและกล้าเปิดรับมุมมองที่แตกต่าง สาม รู้แบ่งปัน ฉันอาสา ก่อนรีบปฏิเสธ 

บางคนทำงานได้ดีเมื่อทำคนเดียว แต่เมื่อร่วมทีมกับผู้อื่นแล้วกลับเป็นสาเหตุให้วงแตกเสมอ อย่างไรก็ตาม เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำงานเป็นทีมคือสิ่งที่จำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อทีมร่วมงานกันได้ดี เข้าใจความคาดหวังตรงกัน ผลงานก็มักดีขึ้น มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น หรือสัมฤทธิผลด้วยระยะเวลาที่น้อยลง แต่ถ้าไปกันไม่ได้ ไม่เข้าใจพฤติกรรมที่คาดหวัง ผลลัพธ์มักไปในทางตรงกันข้าม

ทีมงานที่ดี ทำให้ฝันใดๆ ก็เป็นจริงได้  ยิ่งฝันใหญ่ ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับทีม