posttoday

พาณิชย์"หาทางช่วยเอสเอ็มอีลดผลกระทบ มาตรฐานการบัญชี TFRS 9

11 พฤษภาคม 2561

“พาณิชย์” ร่วมหารือ 5 หน่วยงานหาแนวทางลดผลกระทบให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอีจากการใช้มาตรฐานการบัญชี TFRS 9

“พาณิชย์” ร่วมหารือ 5 หน่วยงานหาแนวทางลดผลกระทบให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอีจากการใช้มาตรฐานการบัญชี TFRS 9

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับดูแล การประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบมาตรฐานการบัญชี เปิดเผยว่า “วันนี้ (วันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม 2561) คณะอนุกรรมการศึกษามาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการนำมาตรฐานการรายงานทางการเงิน-กลุ่มเครื่องมือทางการเงินไปปฏิบัติ ซึ่งแต่งตั้งโดย กกบ. ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิทางบัญชี ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผู้แทนคณะกรรมการร่วมสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย (กกร.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง (สศค.) ผู้แทนสภาวิชาชีพบัญชี และผู้แทนกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการประชุมหารือในวาระเร่งด่วนเพื่อพิจารณาแนวทางการลดผลกระทบจากการใช้มาตรฐานการบัญชี TFRS 9”

“โดยผลการประชุมคณะอนุกรรมการฯ เห็นควรให้ ธปท. และสภาวิชาชีพบัญชี กำหนดแนวทางปฏิบัติภายใต้กรอบของ IFRS 9 เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย และผ่อนคลายผลกระทบจากการนำ TFRS 9 มาใช้บังคับให้แก่สถาบันการเงิน และธุรกิจเอสเอ็มอี โดยที่ประชุมจะพิจารณาเรื่องวันบังคับใช้ ที่เหมาะสมในการประชุมครั้งถัดไป ก่อนเสนอให้ กกบ. พิจารณาชี้ขาด และในระหว่างนี้ให้สภาวิชาชีพบัญชีโดยคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีจัดตั้งคลินิกบัญชีเฉพาะกิจสำหรับ TFRS 9 เพื่อให้คำปรึกษาและ ตอบข้อซักถาม”

“นอกจากนี้ สภาวิชาชีพบัญชี จะรับเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดอบรมให้กับผู้ทำบัญชี และนิติบุคคลที่จะต้องปฏิบัติฯ โดยเน้นรูปแบบการอบรมในลักษณะ Workshop เพื่อให้มีความเข้าใจหลักการของมาตรฐานการบัญชีให้มากขึ้น จะมีการจัดทำตัวอย่างในการสร้าง Business Model ให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนจะตั้งคลินิกบัญชีเฉพาะกิจเพื่อตอบคำถามในทุกๆ เรื่องที่เกี่ยวกับการจัดทำรายงานทางการเงิน ตามมาตรฐานการบัญชี IFRS9 โดยมี ธปท. ก.ล.ต. กรมสรรพากร ตลอดจนผู้สอบบัญชีที่อยู่ในตลาดทุนร่วมเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้วย”

“รายงานทางการเงิน นับเป็นหัวใจสำคัญในการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งนักลงทุน ผู้บริหาร และผู้ประกอบการในตลาดทุนล้วนให้ความสนใจในบทวิเคราะห์งบการเงิน ผลการดำเนินงาน และกระแสเงินสดของกิจการที่ต้องการเข้าร่วมลงทุน ทั้งนี้ “รายงานทางการเงินที่ดี” ต้องมีรูปแบบที่อ่านและเข้าใจได้ง่าย สามารถสะท้อนรายการธุรกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรายการซื้อ-ขายในแต่ละวัน หรือธุรกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ มีความโปร่งใส น่าเชื่อถือ และต้องมีรูปแบบตรงตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลให้นักลงทุนตัดสินใจลงทุนในกิจการนั้นๆ ซึ่งประเทศไทยจะสามารถก้าวเข้าสู่...มาตรฐานการรายงานทางการเงินสากลอย่างเต็มรูปแบบด้วยความภาคภูมิ”

“มาตรฐานการรายงานทางการเงินสากลอย่างเต็มรูปแบบจะเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ หรือ IFRS : International Financial Reporting Standards ที่ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันกว่า 140 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานการรายงานทางการเงินและส่งเสริมให้รายงานทางการเงินของประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือในสายตาของนักลงทุนมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้ไทย เป็นประเทศที่น่าเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตไปข้างหน้าอย่างมั่นคง รองรับการเปิดการค้าเสรีของโลกที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน” ประธาน กกบ.กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 60 แห่ง พ.ร.บ.วิชาชีพบัญชี พ.ศ.2547 คือ กำกับดูแลการดำเนินกิจการของสภาวิชาชีพบัญชีให้เป็นไปตามกฎหมายและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์สภาวิชาชีพบัญชี ให้ความเห็นชอบมาตรฐานการบัญชี รวมถึงอำนาจในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการตามที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กกบ.