posttoday

ชงขนส่งขยับค่าบริการ "แท็กซี่" ราคาเริ่มต้นที่ 40บาท

01 พฤษภาคม 2561

ทีดีอาร์ไอชงแผนปฏิรูปแท็กซี่ จ่อปรับราคาเริ่มต้นเป็น 40 บาท กำหนดเกณฑ์ใหม่คิดราคาตามเวลานั่ง คาดมีผลปลายปี 2561

ทีดีอาร์ไอชงแผนปฏิรูปแท็กซี่ จ่อปรับราคาเริ่มต้นเป็น 40 บาท กำหนดเกณฑ์ใหม่คิดราคาตามเวลานั่ง คาดมีผลปลายปี 2561

นายสุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการชำนาญการขนส่ง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยถึงผลการศึกษาแนวทางการปฏิรูปแท็กซี่ ว่า จะสามารถสรุปเสนอไปยังกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) พิจารณาในเดือน พ.ค. โดยเบื้องต้นจะปรับโครงสร้างราคาแท็กซี่กำหนดค่าบริการเริ่มต้นจากเดิม 35 บาท เป็น 40 บาท ช่วง 2 กิโลเมตร (กม.) แรก

นอกจากนี้ จะปรับอัตราการคิดราคาค่าโดยสารแบบใหม่ อิงรูปแบบในต่างประเทศ โดยการแยกค่าใช้จ่ายเป็น 2 ส่วน 1.ค่าโดยสารตามระยะทาง 2.เวลาในการเดินทาง จากเดิมที่คิดค่าโดยสารตามระยะทางและความเร็วของยานพาหนะ เนื่องจากปัจจุบันแท็กซี่จำนวนมากที่ต้องการเลี่ยงพื้นที่รถติดเพราะสูญเสียรายได้ 20-30% ส่งผลให้เกิดปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสาร

สำหรับแนวทางใหม่จะคิดราคาตามเวลาที่เดินทางจริงเพื่อแก้ข้อบกพร่องดังกล่าว อย่างเช่น ผู้โดยสารใช้บริการแท็กซี่ระยะทาง 5 กม. มีค่าโดยสารตามระยะทาง 50 บาท แต่ช่วงดังกล่าวมีปัญหารถติดเสียเวลาเดินทางมากกว่าเวลาปกติ 15 นาที ก็อาจจะคิดเพิ่มไปอีกนาทีละ 1 บาท ทำให้ผู้โดยสารต้องจ่ายค่าโดยสารทั้งหมด 65 บาท เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม คาดว่าแนวทางดังกล่าวนั้นไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมายใหม่ทั้งหมด เพียงแค่แก้กฎกระทรวงเพื่อบังคับใช้ ดังนั้น หาก ขบ.พิจารณาเห็นชอบจะเสนอเข้าสู่กระทรวงคมนาคมเพื่อบังคับใช้ให้ได้ภายในปลายปีนี้

นายสุเมธ กล่าวว่า การใช้วิธีคิดราคาแบบใหม่นั้นทำให้สามารถคำนวณราคาได้ดีกว่าของเดิม อีกทั้งยังเป็นธรรมกับผู้ให้บริการอีกด้วย เนื่องจากปัจจุบันรายได้ของคนขับแท็กซี่ต่อวันเมื่อหักต้นทุนแล้วจะอยู่ที่ราว 300-400 บาท เท่ากับค่าแรงขั้นต่ำปกติ ส่งผลให้กิจการแท็กซี่ไม่มีการแข่งขันเพื่อยกระดับบริการให้กับประชาชน

สำหรับความคืบหน้าการศึกษาบริการรูปแบบร่วมเดินทาง (Ride Sharing) ของของแอพพลิเคชั่นของ Grab และ Uber นั้นมองว่าไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมายเช่นกัน เพียงแค่ประกาศกฎกระทรวงเพื่อบังคับใช้ โดยแนวทางการกำกับดูแลผู้ให้บริการ Ride Sharing หรือรถยนต์ส่วนบุคคลที่จะมาบริการสาธารณะ ไม่จำเป็นต้องไปออกป้ายทะเบียนใหม่เป็นสีเหลืองเหมือนแท็กซี่ สามารถใช้ป้ายทะเบียนเดิมได้ (สีขาว) โดยผู้ให้บริการต้องมาจดทะเบียนกับ ขบ.เพื่อลงบันทึกประวัติ พร้อมรับสติ๊กเกอร์จำนวน 2 ชิ้น เพื่อระบุว่ารถคันนี้เป็นรถรับจ้างสาธารณะ โดยต้องติดไว้ที่ด้านท้ายและด้านหน้าของยานพาหนะ

อย่างไรก็ตาม เรื่องของการกำกับดูแลนั้นยอมรับว่าจำเป็นต้องหาแนวทางและกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้นภายหลังจากที่ Uber ควบรวมกับ Grab ทำให้เสี่ยงต่อการผูกขาดตลาดในประเทศไทย เพราะกลไกการแข่งขันทางการตลาดตามปกติอาจเกิดได้ยากถ้ายังไม่มีเอกชนที่เป็นคู่แข่งขัน