posttoday

ถอดรหัสนักช็อป กลุ่มอำนาจซื้อสูง

30 เมษายน 2561

ถอดรหัสเทรนด์ผู้บริโภค 4 กลุ่มที่มีศักยภาพและพร้อมจะจับจ่ายซื้อสินค้า

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย

ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคมูลค่า 2 ล้านล้านบาท แม้ว่าไตรมาสแรกจะอยู่ในภาวะติดลบ 2.6% แต่แบรนด์และสินค้ายังมีโอกาสเติบโตได้ นีลเส็นถอดรหัสเทรนด์ผู้บริโภค 4 กลุ่มที่มีศักยภาพและพร้อมจะจับจ่าย

ยงยุทธ องค์วัฒนะพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาการขาย บริษัท นีลเส็น เปิดเผยว่า พฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มแรก คือ นักช็อปสินค้าพรีเมียม พบว่า ภาพรวมตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคระดับพรีเมียมมีสัดส่วน 31% และมีอัตราการเติบโต 4% โดยมี 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์ผลักดันให้ตลาดเติบโต ได้แก่ 1.ผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคลระดับพรีเมียมเติบโต 4.2% และมีสัดส่วน 44% ของตลาดรวม ขณะที่ตลาดรวมเติบโต 1.7% 2.กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวระดับพรีเมียมเติบโต 8.4% สัดส่วนราว 41% ส่วนรวมเติบโต 1.3%

3.กลุ่มผลิตภัณฑ์อิมพัลส์ระดับพรีเมียม (Impulse) หรือเมื่อผู้บริโภคเห็นจะเกิดการซื้อเติบโต 8.1% มีสัดส่วน 35% และตลาดรวมโต 4.8% และที่ต้องจับตามอง 4.เครื่องดื่มระดับพรีเมียมเติบโต 2.5% โดยที่ตลาดเริ่มขยายตัวเพิ่มเป็น 35% สวนตลาดโดยรวมติดลบ 3.8% เทรนด์การออกสินค้าในปีนี้ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียม ล่าสุด อิชิตัน เปิดตัวชาเขียวพรีเมียมแบรนด์ใหม่ ชิซุโอกะ บาย อิชิตัน จากจังหวัดชิซุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ราคาขวดละ 30 บาท รวมทั้งต้องจับตาการขับเคลื่อนกลุ่มยูนิลีเวอร์และพีแอนด์จี

สำหรับนักช็อปมีศักยภาพพร้อมจ่ายกลุ่มที่ 2 นักช็อปผู้สูงอายุ จากการที่ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ภายในปี 2561-2573 นีลเส็นคาดว่า กลุ่มที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะสูงขึ้นกลายเป็นสัดส่วน 12% เพิ่มเป็น 19% และกลุ่มอายุ 60-64 ปี จะเพิ่มสัดส่วน 6% เป็น 7% ส่วนกลุ่ม 15-59 ปี สัดส่วนลดลงจาก 65% เหลือเป็น 59% ขณะที่การเกิดของเด็กไทยอายุ 0-14 ปี จะ
ลดลงจาก 17% เหลือเป็น 15% เมื่อพิจารณาถึงกำลังการซื้อแล้ว กลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป มีกำลังการซื้อสูง การใช้จ่ายต่อครั้งราว 113 บาท สูงกว่า
ผู้สูงอายุ 60-64 ปี ส่วนครอบครัวที่มีลูกการใช้จ่ายต่อครั้ง 128 บาท

นักช็อปมีศักยภาพกลุ่มที่ 3 นักช็อปมิลเลนเนียล กลายเป็นผู้บริโภคที่สนใจอย่างมากของนักการตลาด มีความเป็นตัวของตัวเอง ใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล จึงทำตลาดแบบเดิมๆ ไม่ได้ ทั้งนี้พฤติกรรมของผู้บริโภคโดยรวมของประเทศไทยจะช็อปปิ้งทุกช่องทาง 56 ครั้งต่อเดือน แบ่งเป็น 44% ซื้อสินค้าทุกวัน ซื้อเพื่อสต๊อกที่บ้าน 22% กลุ่มวัตถุดิบสำหรับทำอาหาร 11% ซื้ออาหารและเครื่องดื่ม 9% ต้องการซื้อในขณะที่เห็นสินค้า 7% ซื้อเพราะโปรโมชั่น 4% และโอกาสพิเศษ 3%

ขณะที่กลุ่มที่ 4 นักช็อปจากต่างประเทศ เพราะเศรษฐกิจโลกที่เติบโต 3.8% นอกจากจะส่งเสริมการส่งออกขยายตัว อุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็ขยายตัว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาเที่ยวในไทยราวปีละกว่า 10 ล้านคน การทำตลาดของกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน พบว่า 65% ใช้สมาร์ทโฟนทำธุรกรรมทางการเงินหรือซื้อสินค้าและบริการผ่านเงินอิเล็กทรอนิกส์ แบ่งเป็นการจับจ่ายเพื่อช็อปปิ้ง 25% ใช้บริการโรงแรม 19% และสำหรับการกินอาหารและเครื่องดื่ม 16% ดังนั้นหากสินค้าจะเจาะนักท่องเที่ยวชาวจีนต้องมีโมบายเพย์เมนต์รองรับกับพฤติกรรมดังกล่าว