posttoday

แนะจับโอกาส สินค้าความงามไทย

24 เมษายน 2561

แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัว แต่ตลาดเครื่องสำอางและความงามกลับเป็นตลาดเติบโตได้ดี

แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัว แต่ตลาดเครื่องสำอางและความงามกลับเป็นตลาดเติบโตได้ดี

**********************

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย

แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัว แต่ตลาดเครื่องสำอางและความงามกลับเป็นตลาดเติบโตได้ดี ด้วยพฤติกรรมของสาวที่เริ่มยกระดับความงามและมีความซับซ้อนมากขึ้น จึงเป็นโอกาสของแบรนด์และสินค้าที่จะทำตลาด

อิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้อำนวยการด้านพัฒนาธุรกิจ บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล ผู้ดำเนินธุรกิจการวิจัยพฤติกรรมของผู้บริโภคเชิงลึกกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค เปิดเผยรายงานผลวิจัย “ตลาดเครื่องสำอางและความงาม - ไทย” (Thailand Beauty Market) ว่า ภาพรวมตลาดความงามของไทยปี 2559 มีมูลค่า 5.7 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นสินค้าเครื่องสำอางและความงาม 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผมและศีรษะ สัดส่วน 33% เติบโตต่ำที่สุดคือ 0.8%

ตามด้วย 2.กลุ่มผลิตภัณฑ์บอดี้แคร์ สัดส่วน 11% โต 3.5% ส่วนกลุ่มที่สาวไทยให้ความสำคัญยังคงเป็นกลุ่มที่ 3. คือ ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้า สัดส่วน 40% ของตลาด มีอัตราการเติบโต 4.5% และ 4.กลุ่มผลิตภัณฑ์เมกอัพ สัดส่วน 16% เติบโตสูงสุดที่ 8.7% และคาดว่าแนวโน้ม 2-3 ปีข้างหน้า ตลาดเครื่องสำอางจะเติบโตเพิ่มขึ้น มาจากพฤติกรรมที่เริ่มมีความซับซ้อน ซื้อเพื่อสนองอารมณ์ และเพิ่มความมั่นใจให้ตนเอง รวมถึงกระแสโซเชียลมีเดีย

นอกจากนี้ อัตราการใช้เครื่องสำอางของไทยยังมีช่องว่างให้เติบโต จากการใช้ในครัวเรือนมี 48% และปี 2556 ขั้นตอนการใช้ผลิตภัณฑ์จาก 2.4 ขั้นตอนเพิ่มเป็น 2.52 ขั้นตอนในปี 2560 เมื่อเทียบกับเกาหลีการใช้ในครัวเรือน 85% และใช้ผลิตภัณฑ์ 7 ขั้นตอน โดยกลุ่มสินค้าที่ผลักดันให้ตลาดโต คือ ดินสอเขียนคิ้วโต 39% ลิปสติกโต 32% แป้งรองพื้นโต 3%

ขณะที่กลยุทธ์ตลาดนั้นพบว่า หลายแบรนด์นำเสนอความหลากหลายของสินค้า อาทิ การล้างเครื่องสำอางเติบโต 14% มาสก์หน้าโต 12% เพื่อสร้างดีมานด์ของตลาด ส่งผลให้คนไทยมีพฤติกรรมด้านความงามที่เปลี่ยนไป ให้ความสำคัญกับการดูแลผิวหน้ามากขึ้น ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่มีผลต่อการเติบโตของตลาดรวมของผลิตภัณฑ์ความงามมากที่สุด คือ กลุ่มมิลเลนเนียลอายุ 23-39 ปี สัดส่วน 43% และเติบโต 43%

“กำลังการซื้อของคนไทยยังคงซื้อสินค้าแมสมากกว่าจะเป็นพรีเมียม แต่มีแนวโน้มว่าจะเริ่มยกระดับไปสู่การซื้อสินค้าระดับพรีเมียม เมื่อเทียบกับเกาหลีและญี่ปุ่นการซื้อสินค้าไม่ให้ความสำคัญกับราคาที่แพง แต่พิจารณาถึงคุณสมบัติการใช้งาน ส่วนอังกฤษและฝรั่งเศสเริ่มกลับสู่ยุคธรรมชาติหรือไม่แต่งหน้ามากนัก” อิษณาติ กล่าว

สำหรับกลยุทธ์ของแบรนด์ที่จะเข้ามาทำตลาดในไทยในด้านสินค้ามีด้วยกัน 4 ด้าน คือ 1.เป็นผลิตภัณฑ์ป้องกันมากกว่ารักษา 2.ผลิตภัณฑ์สวยเร่งด่วน สะดวกสบายเป็นสูตรออล-อิน-วัน 3.ผลิตภัณฑ์ที่เป็นธรรมชาติ 4.ต้องเป็นสินค้าที่มีเรื่องราว อยู่ในยุคสมัยรวมทั้งการทำตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์และไมโครอินฟลูเอนเซอร์

ตลาดความงามไทยยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของวงจรการเติบโต ขณะที่ออนไลน์เป็นช่องทางการตลาดที่สำคัญยิ่งในอนาคตและแบรนด์ต้องให้ความสำคัญมากขึ้น ซึ่งหัวใจสู่ความสำเร็จในการยึดครองตลาด คือ การแชร์ อัพเกรด และต้องอยู่บนออนไลน์