posttoday

อดีตรมว.คลังเตือนนายกฯระวังเกณฑ์ประมูลแหล่งก๊าซเข้าข่ายผิดกฎหมาย

23 เมษายน 2561

"ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล"เผยจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯเตือนหลักเกณฑ์-เงื่อนไขประมูลแหล่งก๊าซอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย

"ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล"เผยจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯเตือนหลักเกณฑ์-เงื่อนไขประมูลแหล่งก๊าซอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เผยแพร่ จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีเตือนมิให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติปฏิบัติผิดกฎหมาย ลงวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมาผ่านเฟซบุ๊ก THIRACHAI PHUVANATNARANUBALA โดยมีเนื้อหาดังนี้

ตามที่ท่านจะทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันจันทร์ที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๑ นั้น บัดนี้ได้ปรากฏข่าวในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ ๒๒-๒๕ เมษายน ๒๕๖๑ เกี่ยวกับการประมูลแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช ซึ่งนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยเกี่ยวกับร่างหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลที่จะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๑ ซึ่งข้าพเจ้ามีความเห็นว่าอาจจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย จึงขอเรียนมายังท่าน ดังนี้

ข้อ ๑. ร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้น้ำหนักไว้ ๒ เรื่อง คือ (ก) ราคาขายก๊าซธรรมชาติ ซึ่งให้น้ำหนักไว้ถึงร้อยละ ๖๕ โดยอ้างเหตุผลพิจารณาว่า ผู้ประกอบการรายใดเสนอราคาขายในราคาต่ำ จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค ภาคไฟฟ้า แอลพีจี และโรงงานอุตสาหกรรม และ (ข) ส่วนแบ่งกำไรภาครัฐ ให้น้ำหนักไว้เพียงร้อยละ ๒๕

ข้อ ๒. หลักเกณ์ดังกล่าวกำหนดให้มีการทำสัญญาระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต จึงเป็นการที่แต่ละฝ่ายเสนอและสนองต่อกัน และมีหน้าที่ความรับผิดชอบแก่กัน เพื่อประโยชน์ระหว่างกันอันเกิดจากการปฏิบัติตามหน้าที่ของแต่ละฝ่าย อันเป็นไปตามหลักการของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ ๒ แต่เนื่องจากหลักเกณฑ์ดังกล่าว มิได้เป็นการกำหนดราคาให้ผู้ยื่นขอเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต เสนอขายก๊าซธรรมชาติให้แก่รัฐบาลไทย แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเคยเปิดเผยต่อสื่อสาธารณะไว้ว่า เป็นการกำหนดเงื่อนไขให้เสนอขายก๊าซธรรมชาติให้แก่ บริษัท XXX จำกัด (มหาชน) ดังนั้น จึงเป็นกรณีที่ทางราชการกำหนดเงื่อนไขเพื่อประโยชน์แก่เอกชนรายหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง หลักเกณฑ์นี้จึงเข้าข่ายเป็นการนำเอาบุคคลที่สามซึ่งมิใช่คู่สัญญาเข้ามาเกี่ยวข้องในนิติสัมพันธ์ทางสัญญาระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต โดยที่บุคคลที่สามดังกล่าวมิได้มีอำนาจหรือหน้าที่ความรับผิดชอบในการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียม และมิได้มีอำนาจที่จะบังคับใดๆ ตามสัญญาดังกล่าว รวมทั้งมิได้มีภาระต้องรับผิดชอบชดใช้ใดๆ กรณีไม่มีการปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว ซึ่งผิดหลักการกฎหมาย common law ทั่วไปของลักษณะสัญญา หรือที่เรียกว่า Privity of contract ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย

ข้อ ๓. เนื่องจากบริษัท XXX จำกัด (มหาชน) ขณะนี้ โดยสภาพ มีอำนาจผูกขาดการใช้สิทธิซื้อก๊าซธรรมชาติจากผู้รับสัมปทานทุกรายแต่ผู้เดียวในประเทศไทย อันเป็นสิทธิที่ได้มาจากการใช้อำนาจมหาชนของรัฐในอดีต (ซึ่งข้าพเจ้ามีความเห็นโดยสุจริตว่า อาจเป็นการนำเอาสิทธิของส่วนรวมไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวโดยมิชอบ) และที่ผ่านมาหลายปี การที่บริษัทนี้สามารถใช้สิทธิดังกล่าว ยังผลให้บริษัทนี้มีกำไรเป็นเงินนับหลายแสนล้านบาท ดังนั้น การที่ทางราชการกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ยื่นขอเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตทุกราย จะต้องแข่งขันกันเพื่อเสนอขายก๊าซให้แก่เอกชนรายนี้เป็นการเฉพาะเจาะจง จึงย่อมมีผลอำนวยให้บริษัทนี้สามารถรักษาสถานะการผูกขาดต่อไปได้ และย่อมมีผลเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทนี้เป็นการเฉพาะ

ข้อ ๔. เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๒๖ บัญญัติเกี่ยวกับการตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลว่า จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และปรากฏในวรรคสองแห่งมาตราดังกล่าวระบุว่า กฎหมายตามวรรคหนึ่ง ต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง แต่ร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว มีผลเป็นการจำกัดสิทธิของผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต เพราะไม่สามารถขายก๊าซในส่วนแบ่งของตนได้อย่างเสรี ต้องถูกบังคับในการขาย แต่กลับมิใช่การขายเป็นการทั่วไปให้แก่ผู้สนใจซื้อทุกรายเท่าเทียมกัน กลับเป็นการขายให้แก่ บริษัท XXX จำกัด (มหาชน) เป็นการเฉพาะเจาะจง ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าเป็นการฝ่าฝืนมาตรานี้

ข้อ ๕. เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๗๕ บัญญัติให้รัฐพึงขจัดการผูกขาดทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม แต่ร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีผลเป็นการเอื้ออำนวยให้ บริษัท XXX จำกัด (มหาชน) จะสามารถดำรงสถานะการผูกขาดในธุรกิจก๊าซธรรมชาติโดยสภาพได้ต่อไป ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าเป็นการฝ่าฝืนมาตรานี้

ข้อ ๖. เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๕ บัญญัติว่า บทบัญญัติของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นว่าร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวซึ่งฝ่าฝืนมาตรา ๒๖ และมาตรา ๗๕ เข้าตามข้อบัญญัติของมาตรา ๕ ด้วย

ข้อ ๗. การให้น้ำหนักร้อยละ ๖๕ ต่อข้อเสนอราคาขายก๊าซธรรมชาติ อันเป็นเรื่องที่มีผลประโยชน์หลักต่อ บริษัท XXX จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีผู้ถือหุ้นเอกชนได้รับประโยชน์ รวมไปถึงผู้ถือหุ้นต่างประเทศ แต่ให้น้ำหนักเพียงร้อยละ ๒๕ ต่อส่วนแบ่งกำไรภาครัฐ อันเป็นเรื่องที่มีผลประโยชน์หลักต่อรัฐบาลไทย และเป็นผลประโยชน์หลักต่อประชาชนคนไทยทั้งมวลนั้น ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ที่มีผลเป็นการริดรอนสิทธิประโยชน์ของปวงชนชาวไทยไปเป็นประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นเอกชน รวมไปถึงผู้ถือหุ้นต่างชาติอีกด้วย ซึ่งผิดกฎหมายอีกประการหนึ่ง

นอกจากนี้ กรณีการเปรียบเทียบข้อเสนอระหว่างผู้ยื่นสองราย รายที่หนึ่งเสนอราคาขายก๊าซต่ำกว่ารายที่สองคิดเป็นร้อยละ ๑ ในขณะที่รายที่หนึ่งก็เสนอส่วนแบ่งกำไรภาครัฐต่ำกว่ารายที่สองคิดเป็นร้อยละ ๑ ด้วย ซึ่งไม่ว่าจะกำหนดน้ำหนักสำหรับแต่ละปัจจัยเป็นตัวเลขเท่าใด ก็ไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้ปราศจากข้อสังสัยว่า ข้อเสนอที่ดีกว่าในราคาขายก๊าซของรายที่หนึ่ง จะชดเชยกับข้อเสนอที่ด้อยกว่าในส่วนแบ่งกำไรภาครัฐ ได้อย่างไร และในด้านรายได้ของแผ่นดิน ปัจจัยใดจะทำให้ประเทศและประชาชนส่วนรวมได้ประโยชน์สูงสุด ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖๔ (๑) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐

ข้าพเจ้าจึงขอเรียนเสนอแนะให้ กพช. พิจารณาสั่งการให้แก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์ตามที่ปรากฏในข่าว เป็นสองทาง ทางใดทางหนึ่ง คือ (ก) เปลี่ยนเงื่อนไขให้ผู้ยื่นขอเป็นผู้รับสัญญาต้องแข่งขันกันเสนอขายก๊าซให้แก่รัฐบาลไทยโดยตรง หรือบุคคลที่รัฐบาลไทยมอบหมาย เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิต เป็นต้น เพื่อตัดผลประโยชน์ที่มิควรได้ของคนกลางออกไป หรือ (ข) เปลี่ยนเงื่อนไขให้ผู้ยื่นขอเป็นผู้รับสัญญาต้องเสนอขายก๊าซให้แก่บุคคลทั่วไป ด้วยวิธีการประมูลโปร่งใส มิให้ขายเฉพาะเจาะจงแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาว่าการกระทำโดยบุคคลที่เกี่ยวข้องถูกต้องตามหลักของกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลหรือไม่

อดีตรมว.คลังเตือนนายกฯระวังเกณฑ์ประมูลแหล่งก๊าซเข้าข่ายผิดกฎหมาย