posttoday

กฟผ.ห่วงปี63ไฟฟ้าภาคใต้วิกฤต เสี่ยงไม่พอใช้

23 เมษายน 2561

กฟผ.หวั่นไฟฟ้าภาคใต้ไม่พอในปี 2563 หากพีกเกิดกลางคืน รมว.พลังงานสั่งทำสายส่งขนอม-สุราษฎร์ 6,000 ล้าน รองรับ

กฟผ.หวั่นไฟฟ้าภาคใต้ไม่พอในปี 2563 หากพีกเกิดกลางคืน รมว.พลังงานสั่งทำสายส่งขนอม-สุราษฎร์ 6,000 ล้าน รองรับ

นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กฟผ.มีความกังวลด้านความมั่นคงระบบผลิตไฟฟ้าภาคใต้ในปี 2563 ที่มีความเสี่ยงจะไม่เพียงพอ เนื่องจากความต้องการใช้ไฟภาคใต้สูงสุด (พีก) เมื่อปี 2560 อยู่ที่ 2,642 เมกะวัตต์ ขณะที่โรงไฟฟ้าหลักคือจะนะและขนอมผลิตไฟฟ้าได้จริง 2,024 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ ส่วนที่เหลือเป็นการส่งจากภาคกลาง 460 เมกะวัตต์ ผลิตจากเขื่อน ชีวมวล และลม 140 เมกะวัตต์ การใช้ไฟภาคใต้เติบโตเฉลี่ย 3.4% ทุกปี โดยเฉพาะ จ.ภูเก็ต ที่เติบโตสูงมากจากการท่องเที่ยว และพีกไฟฟ้าของภาคใต้เกิดมากสุดในช่วงเวลากลางคืน แม้จะเพิ่มพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบแล้ว ดังนั้นภาคใต้จำต้องมีโรงไฟฟ้าหลัก โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพาจึงมีความสำคัญ

“เมื่อโรงไฟฟ้าถ่านหินชะลอออกไปและการใช้ไฟฟ้าภาคใต้เพิ่มขึ้นก็ยิ่งเสี่ยงมาก ตามหลักการภาคใต้ควรจะมีการผลิตไฟ 3,100 เมกะวัตต์ และเผื่อโรงใดโรงหนึ่งหยุดซ่อมควรเป็น 3,500 เมกะวัตต์ จึงเป็นที่มาของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา ปัญหาที่ห่วงในปี 2563 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เสนอให้ส่งเสริมการใช้ไฟอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดพีกลง” นายกรศิษฏ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน ได้มีนโยบายให้ กฟผ.ไปพิจารณาความเป็นไปได้ในการขยายสายส่ง 500 กิโลโวลต์ จากโรงไฟฟ้าจะนะไปยัง จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อสร้างประสิทธิภาพสายส่งพื้นที่ภาคใต้ที่มีปัญหาคอขวด และจัดระบบใหม่รองรับพลังงานทดแทน จึงอาจต้องสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติใหม่ขนาด 700-1,000 เมกะวัตต์ ซึ่ง กฟผ.ต้องเลือกพื้นที่ โดยกำลังศึกษาหากเกิดในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ก็ไม่ต้องสร้างสายส่งเส้นดังกล่าวที่มีมูลค่า 6,000 ล้านบาท เพราะมีสายส่งเดิมรองรับอยู่แล้ว แต่หากโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นที่ขนอมสายส่งดังกล่าวก็จะเกิดประโยชน์ โดย กฟผ.จะเร่งสรุปเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ หากมีการก่อสร้างสายส่งเส้นดังกล่าวจะต้องเสร็จในปี 2566-2567 อาจต้องอาศัยการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ส่วนเส้นราชบุรี-สุราษฎร์ธานี เดิมมี 3 ชุด แต่ชุดที่ 3 เป็นเส้นที่เดิมจะนำไฟจากภาคใต้ตอนล่างไปป้อนข้างบน แต่เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำทำให้ไฟภาคกลางเหลือมากจึงต้องเลิกเส้นดังกล่าว

สำหรับการปรับโครงสร้างองค์กร กฟผ. คณะกรรมการบริหาร กฟผ. (บอร์ด กฟผ.) จะหารืออีกรอบเพื่อสรุปแนวทางวันที่ 23 เม.ย.นี้