posttoday

ดาวโจนส์ยกเอสซีจีขึ้นแท่นอันดับ1ของโลก

13 ตุลาคม 2553

เอสซีจีได้รับการคัดเลือกจากดาวโจนส์ให้เป็นบริษัทอันดับ 1 ของโลกในกลุ่มก่อสร้างและวัสดุ ที่พัฒนาอย่างยั่งยืน คาดช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน

เอสซีจีได้รับการคัดเลือกจากดาวโจนส์ให้เป็นบริษัทอันดับ 1 ของโลกในกลุ่มก่อสร้างและวัสดุ ที่พัฒนาอย่างยั่งยืน คาดช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ เครือซีเมนต์ไทย (เอสซีจี) เปิดเผยว่า เอสซีจีได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทชั้นนำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน อันดับ 1 ของโลก หรือ Supersector Leader ในกลุ่มก่อสร้างและวัสดุ ประจำปี 2553 โดย Dow Jones Sustainability Indexes หรือ DJSI ซึ่งรางวัลนี้จะเป็นตัวสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ที่ต้องการเข้ามาลงทุนในบริษัทที่มีการพัฒนาที่ยั่งยืนได้เป็นอย่างดี โดยเอสซีจีได้รับการคัดเลือกจากบริษัททั่วโลกมาเป็นอันดับ 1 ไต่ลำดับมาจากปีที่แล้วที่อยู่ในระดับ 1 ใน 3 ของโลก ซึ่งเอสซีจี ถือเป็นบริษัทเดียวในประเทศไทย ที่ได้รับเชิญและผ่านการประเมินให้เข้าเป็นสมาชิกของ DJSI

ดาวโจนส์ยกเอสซีจีขึ้นแท่นอันดับ1ของโลก

การจัดอันดับดัชนีดังกล่าว เป็นดัชนีหลักทรัพย์ที่ประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทชั้นนำระดับโลก โดยกองทุนต่าง ๆ จากทั่วโลกใช้เป็นเกณฑ์ในการลงทุน เพราะมั่นใจว่าบริษัทที่อยู่ใน DJSI จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีและยั่งยืนให้กับผู้ลงทุน

สำหรับวิธีการคัดเลือกดาวโจนส์จะคัดเลือกบริษัทในตลาดทุนทั่วโลกที่เป็นผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประมาณ 2,500 ราย และประเมินผลจากข้อมูลของบริษัทเหล่านั้น เพื่อคัดเลือกให้เหลือ 10%  ซึ่งบริษัทเหล่านั้นจะได้รับเชิญเป็นสมาชิกใน DJSI ซึ่งในปี 2553 มีการคัดเหลือ 318 บริษัท จาก 57 กลุ่ม โดยการประเมินจะพิจารณาจาก 3 ประเด็นหลัก คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ เอสซีจีดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมุ่งมั่นสร้างประโยชน์สูงสุดต่อสังคมมาอย่างต่อเนื่อง โดยจัดตั้งคณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืนเอสซีจี เพื่อกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับทุกบริษัทในเอสซีจี มีการจัดทำคู่มือแนวปฏิบัติด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนการติดตาม ประเมินผล และปรับปรุงให้ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งได้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างเช่น การติดตั้งโครงการ Waste Heat Power Generation หรือ WHG ซึ่งเป็นการนำพลังงานความร้อนเหลือใช้จากกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ กลับมาผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตและโรงงาน โดยได้ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2552 ใช้เงินลงทุนประมาณ 5,850 ล้านบาท ช่วยให้ประหยัดการซื้อไฟฟ้าจากภายนอกได้ประมาณ 25% และ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ปีละ 300,000 เมตริกตัน