posttoday

ค่าจ้างแรงงานภาคอุตฯอยู่ในภาวะดี

13 ตุลาคม 2553

เผยผลสำรวจค่าจ้างแรงงานภาคอุตฯยังอยู่ในภาวะดี ค่าจ้างขั้นต้นเริ่มที่ 6,590 บาท/เดือน ปริญาตรีสตาร์ท 11,518 บาท/เดือน ธุรกิจพลังงานให้ค่าจ้างสูงสุด ภาพรวมเงินเดือนขึ้นเฉลี่ย5%-โบนัส 2.3 เดือน

เผยผลสำรวจค่าจ้างแรงงานภาคอุตฯยังอยู่ในภาวะดี ค่าจ้างขั้นต้นเริ่มที่ 6,590 บาท/เดือน ปริญาตรีสตาร์ท 11,518 บาท/เดือน ธุรกิจพลังงานให้ค่าจ้างสูงสุด ภาพรวมเงินเดือนขึ้นเฉลี่ย5%-โบนัส 2.3 เดือน

นายทวีศักดิ์   หมัดเนาะ   กรรมการสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการ 2553/2554  จัดทำโดยคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม  จากการสำรวจ 302 สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ 26 อุตสาหกรรม  พบว่าค่าจ้างขั้นต้นสำหรับผู้ไม่มีประสบการณ์หรือผู้ที่จบการศึกษาใหม่จำแนกตามคุณวุฒิ  ระดับปวช. ค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 6,590 บาท  ปวส.เฉลี่ย 7,697 บาท ปริญญาตรี เฉลี่ย 11,518 บาท  ปริญญาโท เฉลี่ย  16,868 บาท และปริญญาเอก เฉลี่ย 24,961 บาท  ในภาพรวมถือเป็นอัตราค่าจ้างที่ดีเมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ

ค่าจ้างแรงงานภาคอุตฯอยู่ในภาวะดี

นอกจากนี้อัตราการปรับขึ้นเงินเดือนประจำปีเฉลี่ยอยู่ที่ 5.05% ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา  โดยมีการจ่ายโบนัสเฉลี่ย 2.3 เดือนมีแนวโน้มที่ขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 1.78 เดือน

ทั้งนี้เมื่อสำรวจค่าจ้างขั้นต้นแยกตามกลุ่มธุรกิจพบว่า อุตสาหกรรมพลังงานเป็นกลุ่มที่มีค่าจ้างสูง ได้แก่ ธุรกิจผู้ผลิตไฟฟ้า รองลงมาเป็น   โลจิสติกว์ และ เคมี  ในขณะที่เมื่อเปรียบเทียบสาขาวิชาชีพที่มีค่าจ้างขั้นต้นสูงสุดระดับปริญญาตรีเป็นดับหนึ่งได้แก่ วิศวกรรมศาสตร์   รองลงมาเป็น เภสัชศาสตร์   วิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และสถาปัตยกรรมศาสตร์

ส่วนกรณีที่รัฐบาลจมีนโยบายจะปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำให้อยู่ที่ระดับ 250 บาท/วันทั่วประเทศว่า หากพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานจะพบว่า คงเป็นไปได้ยาก เพราะปัจจุบันอัตรค่าแรงขั้นต่ำที่สูงสุดอยู่ที่ 206 บาท/วัน ซึ่งหากจะให้ปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 250 บาท/วัน จะต้องปรับเพิ่มขึ้น 25% แต่เมื่อกลับมาพิจารณาเทียบกับพื้นฐานที่ผ่านมาทุกปีอัตราการปรับขึ้นเงินเดือนจะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 3-5% เท่านั้น

“ภาพรวมของค่าจ้างและสวัสดิการของภาคอุตสาหกรรม ยังอยู่ในภาวะที่ดี  โดยการปรับขึ้นเงินเดือนและโบนัสในแต่ละปีมีการปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5%  บนพื้นฐานของอัตราก่ารขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)และผลประกอบการของแต่ละบริษัท ซึ่งหากปีนี้จีดีพีอยู่ที่ระดับ 7.5-8% ตามที่คาดการณ์ไว้ก็จะส่งผลให้อัตราการปรับขึ้นเงินเดือนและโบนัสในปีหน้าดีขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงปัจจัยเรื่องเงินบาทแข็งค่าด้วย”นายทวีศักดิ์ กล่าว

ด้านนายประเสริฐ   สิทธิจิรพัฒน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการหลักสูตรการจัดการดุษฎีบัณฑิต คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า ผลสำรวจในด้านสวัสดิการนั้น พบว่า ทุกสถานประกอบการมีการจัดสวัสดิการให้ตามที่กฎหมายกำหนด และมีหลายแห่งที่จัดสวัดิการให้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยนายจ้างส่วนใหญ่จะจัดเพิ่มสวัสดิการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยให้แก่พนักงานมากขึ้นเช่น ชุดฟอร์มทำงาน การประกันสุขภาพและอุบัติเหตุ รวมทั้งการจ่ายเงินช่วยเหลือพนักงานในกรณีต่างๆ

นอกจากนี้ยังพบว่า การจ้างงานของสถานประกอบการต่างๆเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนวันทำงาน ชั่วโมงการทำงานและการปรับโบนัส ในขณะที่นโยบายเชิงลบเช่น การเลิกจ้างพนักงานลดลงจากช่วงแรกที่ทำการสำรวจ แสดงให้เห็นว่าสภาพการจ้างงานกลับสู่ภาวะปกติและมีแนวโน้มที่ดีขึ้น