posttoday

ดีแทคชี้ 1800 ส่อไม่คึก แนะปรับเงื่อนไขประมูล

10 เมษายน 2561

ดีแทค เสนอสูตรประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ขนาดคลื่น 45 MHz แบ่ง ออกเป็น 9 ใบ ใบอนุญาตละ 5 MHz

โดย...จะเรียม สำรวจ    

จากการที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะประชุมในวันนี้ (วันที่ 10 เม.ย.) เพื่อสรุปเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ให้ได้ก่อนเดือน ก.ย. 2561 ซึ่งครบกำหนดอายุสัมปทาน ที่บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค จะหมดอายุสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 850 MHz ทำให้ดีแทคค่อนข้างจำเป็นต้องชนะการประมูลครั้งนี้มาก เพราะต้องมีคลื่นไว้ให้บริการผู้ใช้กว่า 24 ล้านราย

อย่างไรก็ตาม จากการที่ กสทช.มีแนวคิดที่จะจัดการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ขนาดคลื่น 45 MHz แบ่งใบอนุญาตเป็น 3 ใบ หรือใบอนุญาตละ 15 MHz และใช้เงื่อนไขผู้เข้าประมูล N-1 หรือจำนวนใบอนุญาตต้องน้อยกว่าจำนวนผู้เข้าประมูล 1 ใบ เช่น มีผู้เข้าประมูล 3 ใบ แข่งประมูลใบอนุญาต 2 ใบ ทำให้ดีแทคค่อนข้างมีความกังวลกับกฎกติกาดังกล่าว

ราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค กล่าวว่า การที่ กสทช.จะจัดการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ขนาดคลื่น 45 MHz ใบอนุญาตละ 3 ใบ ใบอนุญาตละ 15 MHz และใช้เงื่อนไข N-1 มองว่าจะทำให้การประมูลคลื่นความถี่ในครั้งนี้แข่งขันไม่รุนแรง เนื่องจากราคาเริ่มต้นประมูลสูงเกินไป ภาครัฐควรมีการพิจารณาหลักการประมูลอีกครั้ง เพราะการออกหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่มีผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต ทั้งในด้านของคุณภาพชีวิตคนไทยและศักยภาพการแข่งขันในอีกหลายปีข้างหน้า

ดังนั้น ภาครัฐควรมองภาพระยะยาว เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ประมูลคลื่นความถี่ได้นำไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุด เพราะการประมูลคลื่นความถี่ที่ราคาตั้งต้นแพงเกินไป โดยนำราคาประมูลคลื่น 900 MHz เมื่อปี 2559 ที่กลุ่มทรูฯ กับกลุ่มเอไอเอสชนะประมูลไปรายละ 1 ใบ ที่ราคาใบละกว่า 7.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่ารายที่ปั่นราคาประมูลสุดท้ายไม่มีเงินจ่ายเป็นราคาไม่ปกติ หากเหตุการณ์ยังเป็นแบบนั้น ท้ายที่สุดแล้วผู้บริโภคจะเป็นผู้แบกภาระ ดังกล่าว จากการมีค่าใช้บริการที่เพิ่มสูงขึ้น

บาวา กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้มีโอกาสเข้าไปร่วมทำประชาพิจารณ์กับ กสทช. และได้ร่วมแสดงความคิดเห็นว่า กสทช. ควรวางหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ขนาด 45 MHz แบ่งใบอนุญาตออกเป็น 9 ใบ ใบอนุญาตละ 5 MHz  เพื่อให้ผู้ประกอบการรายเก่าและรายใหม่ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมการประมูลมากขึ้น เพราะราคาเริ่มต้นไม่สูง ขนาดของคลื่นที่อยากได้นั้นสามารถปรับได้ตามความต้องการของแต่ละบริษัทที่เข้าประมูล ไม่ใช่เริ่มที่ขนาด 15 MHz ซึ่งหาก กสทช.ปรับได้จะทำให้ภาพรวมการแข่งขันการประมูลคลื่นความถี่ในครั้งนี้มีความคึกคัก แต่หากภาครัฐยังยืนยันที่จะทำบล็อกการประมูลขนาดใหญ่ ด้วยการแบ่งใบอนุญาตออกเป็น 3 ใบ เชื่อว่าจะทำให้ผู้ประกอบการแข่งขันกันลำบากมากขึ้น

นอกจากนี้ การที่ กสทช.กำหนดสูตร N-1 มาใช้ในการประมูล บาวา มองว่า ปัจจุบันไม่มีประเทศไหนใช้สูตรดังกล่าว เพราะสูตร N-1 เป็นสภาพเหมือนกับจำนวนคลื่นไม่พอ แต่นี่ประเทศไทยมีคลื่นอีกมากมาย ซึ่ง กสทช.ควรจะบริหารให้เกิดการใช้ หรือทยอยประมูลคลื่นให้เกิดประสิทธิภาพ มีการทำตารางจัดสรรคลื่นความถี่ หรือสเปกตรัมโรดแมป ซึ่งถ้าใช้ N-1 ท้ายที่สุดแล้วก็จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมของประเทศ เนื่องจากจะทำให้ผู้ประกอบการเลือกที่จะไม่เข้าประมูล หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวผลที่ได้คือประเทศไม่มีรายได้ หรือมีรายได้น้อยลงกว่าที่ควรจะเป็น