posttoday

รัฐงัดกฎหมายแข่งขันทางการค้าฟัน "ล้ง" เอาเปรียบชาวสวน

19 มีนาคม 2561

พาณิชย์เล็งใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าลงโทษล้งรับซื้อผลไม้กดราคา เหมาสวนแล้วทิ้งสัญญา

พาณิชย์เล็งใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าลงโทษล้งรับซื้อผลไม้กดราคา เหมาสวนแล้วทิ้งสัญญา   

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมกำลังตรวจสอบพฤติกรรมผู้รวบรวม (ล้ง)ผลไม้ หลังจากได้รับทราบพฤติกรรมว่ามีการกดราคารับซื้อผลไม้จากเกษตรกรชาวสวน และบางรายมีการซื้อเหมาสวนแต่ทิ้งสัญญา ซึ่งสามารถใช้กฎหมายในความดูแลของกรมเข้ามาดำเนินการ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ที่ได้มีการปรับปรุงรายละเอียดของกฎหมายใหม่ และมีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อปลายปี 2560 โดยให้อำนาจราชการสามารถดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยไม่ต้องมีผู้ร้องเรียน ต่างจากกฎหมายเดิมที่ต้องมีผู้ร้องเรียนความเสียหาย

“กฎหมายฉบับใหม่ทางเจ้าหน้าที่สำนักงานแข่งขันทางการค้าสามารถตรวจสอบพฤติกรรมได้ทันที และสามารถดำเนินการเอาผิดทางกฎหมายได้ หากพฤติกรรมดังกล่าวสร้างความเสียหายเกิดขึ้นชัดเจน โดยจะมีโทษปรับ 10% ของมูลค่ายอดขายในปีที่กระทำผิด และมีโทษทางอาญาสูงสุดคือจำคุก 2 ปี” นายบุณยฤทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้ กฎหมายแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่ในมาตรา 57 (2) ยังกำหนดห้ามผู้ประกอบการกระทำใดๆ ต่อไปนี้ ใช้อำนาจต่อรองที่เหนือกว่าอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งในมาตราดังกล่าวไม่จำเป็นว่าผู้ประกอบการรายนั้นจะต้องมีอำนาจเหนือตลาด แต่หากมีอำนาจต่อรองที่เหนือกว่า และมีการใช้อำนาจต่อรองนั้นเอาเปรียบคู่ค้าอย่างไม่เป็นธรรมก็ใช้กฎหมายดำเนินการได้

นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 เข้ามาดำเนินการกับล้งที่มีพฤติกรรมดังกล่าวได้เช่นกัน ซึ่งยืนยันว่าล้งที่ดีมีอยู่มาก ส่วนล้งไม่ดีมีอยู่น้อย โดยล้งที่มีพฤติกรรมไม่ดีต้องนำกฎหมายมาจัดการลงโทษ เพื่อไม่ให้เอารัดเอาเปรียบชาวสวน

สำหรับแผนการบริหารจัดการผลไม้ในปี 2561 ในวันที่ 23 มี.ค. 2561 กรมจะลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ร่วมกับห้างค้าปลีก (โมเดิร์นเทรด) 4 ราย ในการรับซื้อผลไม้ล่วงหน้าจากเกษตรกรรวมปริมาณ 5 หมื่นตัน มูลค่า 2,500 ล้านบาท โดยผลไม้ที่รับซื้อล่วงหน้า เช่น ทุเรียน มังคุด ลำไย ลองกอง สับปะรด เป็นต้น เพื่อเป็นช่องทางระบายสินค้าให้กับเกษตรกรในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกัน ซึ่งจะช่วยรักษาเสถียรภาพราคาผลไม้ให้กับชาวสวน และเป็นไปตามนโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ที่ต้องการให้กระทรวงพาณิชย์เข้ามาทำแผนรองรับผลผลิตของผลไม้ล่วงหน้า ทั้งช่องทางการทำตลาดในประเทศและผลักดันตลาดส่งออกเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาราคาตกต่ำ