posttoday

พาณิชย์เดินหน้าปั้นไทยเป็น "มหานครผลไม้โลก" เม.ย.นี้

07 มีนาคม 2561

“สนธิรัตน์” ติดเครื่อง “มหานครผลไม้โลก” เริ่มเม.ย.นี้ ตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งตลาดผลไม้ไทยในตลาดโลก 30% มูลค่าส่งออกเฉียดแสนล้านบาท ภายใน 3 ปี เตรียมแผนอัพเกรดทุเรียน มังคุด ลำไย ชั้นพรีเมี่ยม

“สนธิรัตน์” ติดเครื่อง “มหานครผลไม้โลก” เริ่มเม.ย.นี้ ตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งตลาดผลไม้ไทยในตลาดโลก 30% มูลค่าส่งออกเฉียดแสนล้านบาท ภายใน 3 ปี เตรียมแผนอัพเกรดทุเรียน มังคุด ลำไย ชั้นพรีเมี่ยม    

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงฯมีแผนจะเริ่มขับเคลื่อน “มหานครผลไม้โลก” ตั้งแต่เดือนเม.ย.นี้เป็นต้นไป เพราะเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูกาลผลไม้ของไทย โดยตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันให้ส่วนแบ่งตลาดผลไม้เมืองร้อนของไทยในตลาดโลกเพิ่มเป็น 30% จากปัจจุบันที่มีส่วนแบ่งประมาณ 24.5% และเพิ่มมูลค่าส่งออกขึ้นอีก 1.95 หมื่นล้านบาท เป็น 9.75 หมื่นล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 ปี จากปัจจุบันที่มีมูลค่าส่งออกประมาณ 7.8 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ แผนการผลักดันผลไม้ไทยจะมุ่งการผลิตและทำตลาดผลไม้คุณภาพหรือเกรดพรีเมี่ยมให้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะทุเรียน มังคุดและลำไย โดยผลไม้เหล่านี้จะต้องผ่านการรับรองคุณภาพตามมาตรฐาน GAP ของกรมวิชาการเกษตร และมาตรฐานสินค้า Q ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังสวนที่ปลูก มีการรับรองคุณภาพ เปลี่ยนคืนได้ หากเน่าเสีย เป็นต้น

นอกจากนี้ จะมีการทำตลาดผลไม้เกรดรอง เช่น ทุเรียน หากมีรูปทรงภายนอกไม่สวย ลูกเล็ก แต่เนื้อข้างในดี ก็จะแยกเนื้อออกมาแล้วส่งไปจำหน่าย หรือมังคุด ถ้าลูกเล็ก ก็จะใช้จุดขายใหม่เป็นผลไม้ที่บริโภคได้ทั้งลูก ไม่มีเมล็ด เป็นต้น และยังมีแผนที่จะส่งเสริมให้มีการนำผลไม้ไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น ซุปลำไย ซุปทุเรียน เป็นต้น ซึ่งเป็นที่นิยมมากในตลาดจีน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ยังได้เตรียมแผนเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผลไม้ไทยทั้งในและต่างประเทศ โดยตลาดภายในประเทศจะเพิ่มการกระจายผลไม้ผ่านการตลาดทุกรูปแบบ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เช่น ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ , ตลาดต้องชม , ตลาดเฉพาะสินค้า (Magnet Market) , ศูนย์จำหน่ายสินค้าฟาร์ม เอาท์เล็ต  , การซื้อขายผลไม้ล่วงหน้าผ่านตลาดข้อตกลงระหว่างเกษตรกรกับผู้ประกอบการโรงงานแปรรูป และห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

ขณะที่ตลาดต่างประเทศ จะผลักดันการขยายตลาดในประเทศเป้าหมายเดิม เช่น จีน อินโดนีเซีย และเจาะตลาดใหม่ เช่น อินเดีย ยุโรป เป็นต้น และมีแผนขยายตลาดในประเทศผู้นำเข้ารองเพิ่มเติม เช่น ไต้หวัน อิหร่าน เกาหลีใต้ แคนาดา แอฟริกาใต้ มัลดีฟส์ รวมทั้งตลาดชายแดนที่มีเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน