posttoday

มิตซูฯถกอุตฯวอนผู้ผลิตชิ้นส่วนลดราคา5-10%

11 ตุลาคม 2553

มิตซูบิชิหวั่นได้รับผลกระทบเงินบาทแข็ง ถือโอกาสขอความร่วมมือผู้ผลิตชิ้นส่วนลดราคาให้ 5-10% เพื่อไม่ให้กระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน

มิตซูบิชิหวั่นได้รับผลกระทบเงินบาทแข็ง ถือโอกาสขอความร่วมมือผู้ผลิตชิ้นส่วนลดราคาให้ 5-10% เพื่อไม่ให้กระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน

นายโนบุยูกิ มูราฮาชิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทมิตซูบิชิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) เปิดเผยภายหลังการเข้าหารือกับนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม ว่า จากปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าสร้างความกังวลต่อการส่งออกบ้าง โดยบริษัทได้ขอความร่วมมือจากผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ให้ลดราคาชิ้นส่วนให้ประมาณ 5-10% เนื่องจากกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน

มิตซูฯถกอุตฯวอนผู้ผลิตชิ้นส่วนลดราคา5-10% มิตซูบิชิ แลนเซอร์

“เงินบาทแข็งค่าก็เป็นกังวล เลยต้องขอความร่วมมือให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ปรับลดราคาลงให้ 5-10% แต่จะได้หรือไม่ก็ยังไม่รู้” นายมูราฮาชิ กล่าว

สำหรับในปีนี้ยอดขายรถยนต์ในประเทศของบริษัทตั้งแต่เดือนม.ค.-ธ.ค. อยู่ที่ระดับ 3.7 หมื่นคัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 2 เท่า ที่ 1.9 หมื่นคัน โดยตั้งเป้าจะมีส่วนแบ่งการตลาดที่ระดับ 5% ซึ่งในปีนี้ถือว่าสถานการณ์ดีมาก ทั้งยอดขายรถกระบะ และรถยนต์นั่ง  ส่วนในปีหน้าคาดว่าตลาดจะเติบโตขึ้น แต่คงไม่ดีเท่ากับปีนี้

นายมูราฮาชิ กล่าวว่า บริษัทมิตซูบิชิสนใจจะนำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาทดลองตลาดในประเทศไทย เพื่อทดสอบว่าจะใช้สะดวกหรือไม่ มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเป็นจำหนวนเท่าไหร่  โดยคาดว่าจะนำมาทดลองใช้เป็นเวลา 6 เดือน – 1 ปี

อย่างไรก็ตามมิตซูบิชิจะเลื่อนการเปิดโรงงานประกอบรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (อีโคคาร์) แห่งใหม่ในเมืองไทย ที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จากเดิมที่กำหนดไว้ในวันที่ 11 ต.ค. 2553 เป็นช่วงเดือนพ.ย. แทน เนื่องจากการเตรียมความพร้อมยังไม่ไม่เรียบร้อย โดยโครงการอีโคคาร์ของบริษัทมิตวูบิชิจะออกสู่ตลาดได้ในปี  2555 โรงงานมีกำลังการผลิต 2 แสนคัน มูลค่าการลงทุน 1.75 หมื่นล้านบาท

นายวัลลภ เตียศิริ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์จำนวนกว่า 1,700 ราย มีการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ประมาณ 25% หรือมูลค่าราว 2.5 แสนล้านบาท เพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งปี 2553 มีกำลังผลิต 1.67 ล้านคัน และส่งออกมูลค่า 5 แสนล้านบาท จากต้นปีจนถึงปัจจุบันเงินบาทแข็งค่าขึ้นแล้วถึง 16% ทำให้ผู้ประกอบการรถยนต์จะรวมกลุ่มกันเพื่อต่อรองราคาชิ้นส่วนยานยนต์

“ปกติถ้าราคานำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็จะมีการขอความร่วมมือในการปรับราคาตาม ซึ่งเป็นระบบสไตล์การทำงานของญี่ปุ่นอยู่แล้ว เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งระบบ” นายวัลลภ กล่าว