posttoday

พบบริหารสัญญาที่จอดรถสุวรรณภูมิส่อพิรุธ

11 ตุลาคม 2553

“กรรมการชุดตรวจสอบ” สรุปเบื้องต้นปัญหาที่จอดรถสุวรรณภูมิ จุดบอดอยู่ที่การบริหารสัญญาส่อพิรุธตั้งแต่ต้น ชี้ฝายบริหารที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบ

“กรรมการชุดตรวจสอบ” สรุปเบื้องต้นปัญหาที่จอดรถสุวรรณภูมิ จุดบอดอยู่ที่การบริหารสัญญาส่อพิรุธตั้งแต่ต้น ชี้ฝายบริหารที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบ

นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ ตรวจสอบการบริหารพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ  เปิดเผยว่า จากการเรียกคณะกรรมการร่างทีโออาร์ สัญญาอาคารและลานจอดรถสนามบินสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) มาสอบถามข้อมูล เบื้องต้น กรรมการเห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ที่การบริหารสัญญาที่ส่อให้เห็นพิรุธตั้งแต่แรก คือ เมื่อทอท.เรียกเก็บเงินรายได้ขั้นต่ำตามสัญญา 16.5 ล้านบาท  พร้อมขอเข้าตรวจสอบข้อมูลก็ไม่ได้ ถือว่าก่อให้เกิดความเสียหายและสามารถบอกเลิกสัญญาได้แล้ว แต่ทอท.กลับไม่ได้ทำอะไรเลย

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตอีกหลายเรื่อง อาทิ การปรับลดคุณสมบัติของผู้รับสัมปทาน การเร่งรัดประมูลหาเอกชน รวมทั้งการแยกความรับผิดชอบในการดูแล เช่น เรื่องความเรียบร้อยในการดำเนินงานของเอกชนให้ฝ่ายขนส่งดูแล การบริหารจัดการระบบทอท.ให้ฝ่ายเทคนิคดูแล ฯลฯ

ดังนั้น ฝ่ายบริหารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ และเห็นว่าผ่านคณะกรรมการทอท.มาแล้ว และคิดว่าบอร์ดก็คงได้ข้อมูลจากฝ่ายบริหารของทอท.มาอีกทีหนึ่ง ซึ่งก็ต้องดูว่าเกิดอะไรขึ้นเพราะหากพบว่ามีความผิดจริงเรื่องนี้กระทรวงคงเอาผิดไม่ได้เพราะไม่มีอำนาจเนื่องจากเป็นบริษัทมหาชน หากพบว่าเป็นความผิดของบอร์ดก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการป้องปันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่จะดำเนินการเอาผิดกับบอร์ดทอท.ได้

พบบริหารสัญญาที่จอดรถสุวรรณภูมิส่อพิรุธ

เชิญคณะกรรมการพิจารณารายได้-เอกชนชี้แจง12ต.ค.

ในวันที่ 12 ต.ค. นี้ กรรมการจะเชิญคณะกรรมการพิจารณารายได้ ที่มีนายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ในฐานะประธานคณะกรรมการชุดดังกล่าวในขณะนั้นมาชี้แจงในช่วงเช้าและในช่วงบ่ายจะเชิญ เอกชนมาชี้แจงข้อเท็จจริง 

ทั้งนี้จากการหารือในที่ประชุมมีการตั้งข้อสังเกตว่า 1.มีการตีความอย่างไรว่ามูลค่าโครงการไม่เกิน 1,000 ล้านบาท โดยประเด็นนี้คณะกรรมการพิจารณารายได้ต้องชี้แจงว่าทำไมจึงประเมินว่ามูลค่าโครงการไม่เกิน 1,000 ล้านบาท 2.เหตุใดจึงกำหนดคุณสมบัติ บริษัทที่ร่วมประกวดราคาไว้ที่มีประสบการณ์ในการบริหารลานจอดรถ 1,000 คัน จากเดิมที่กำหนดไว้ 5,000 คัน จากนั้นก็ลดลงเหลือ 2,500 คัน จนกระทั่งเหลือเพียง 1,000 คัน

3.ผู้ประกอบการดำเนินการตามตามเงื่อนไขที่สัญญากำหนดหรือไม่และทอท.เองในฐานะคู่สัญญาดำเนินการได้ถูกต้องแล้วหรือไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ และสมควรหรือไม่ในการยกเลิกสัญญากับเอกชน   4.การจ่ายเงินล่วงหน้าของเอกชนที่ต้องจ่ายให้ทอท.ซึ่งต้องหารือกันว่าจ่ายกันหรือไม่เพราะเท่าที่ทราบทอท.ไม่ได้รับเงินตามสัญญาที่กำหนดไว้ในสัญญา  5.มีการทำสัญญากันเม.ย.53  และมีการตรวจสอบหรือไม่ว่ามีปัญหาในการบริหารสัญญาอย่างไร เพราะพบว่าไม่มีคณะกรรมการบริหารสัญญาทั้งๆที่ต้องมี

นอกจากนี้ ยังเห็นว่า ในส่วนของการจ่ายเงินล่วงหน้ารายได้ขั้นต่ำให้กับทอท.นั้นจะทางทอท.ได้ชี้แจงต่อเอกชนที่เข้ามาประกวดราคาอย่างครบถ้วนและทั่วถึงหรือไม่ หรือมีการได้เปรียบเสียเปรียบกันหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นประเด็นที่ต้องสอบสวนกันในวันที่ 12 ต.ค.นี้  รวมถึงต้องชี้แจงข้อดีข้อเสียในการเก็บเงินเองกับเปิดให้สัมปทาน ซึ่งทอท.ต้องชี้แจงไห้ได้

ทอท.ยันเอกชนต้องคืนพื้นที่ภายใน15ต.ค.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 11 ต.ค. ได้มีการประชุมบอร์ด ทอท.โดยมีนายปิยะพันธ์ จัมปาสุต ประธานคณะกรรมการ(บอร์ด) ทอท .เป็นประธาน ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงโดยนายปิยะพันธ์ เปิดผยว่า ทอท.ได้ส่งหนังสือบอกเลิกสัญญากับทางบริษัทปาร์คกิ้ง เมนเนจเม้นท์  แล้ว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2553 เป็นต้นมา

 

พบบริหารสัญญาที่จอดรถสุวรรณภูมิส่อพิรุธ สุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ร่วมประชุมกับคณะกรรมการตรวจสอบพื้นที่ท่าอากาศสุวรรณภูมิ / ภาพ : กิจจา อภิชนรจเรข

ทั้งนี้ สัญญาการว่าจ้างกับบริษัทดังกล่าวนั้นได้แบ่งออกเป็น 2 สัญญาประกอบด้วย1.สัญญาการว่าจ้างให้บริหารจัดการอาคารและลาด ซึ่งมีผลยกเลิกทันที่ และ 2. สัญญาเช่าพื้นที่อาคารลานจอดรถเพื่อประกอบธุรกิจตามสัญญาแรก ในส่วนนี้ตามสัญญานั้นทางทอท.จะต้องให้เวลากับทางบริษัทดังกล่าวเป็นเวลา 7 วันเพื่อคืนพื้นที่หรือภายในวันที่ 15 ต.ค. 2553

นายปิยะพันธ์ กล่าวว่า ยังได้มอบหมายให้ฝ่ายบริหารไปทบทวนว่าหลังจากนี้จะใช้วีการในการบริหารจัดการอาคารลานจอดรถอย่างไร และวิธีการไหนมีความเหมาะสมที่สุด  ซึ่งในเบื้องต้นมีแนวทาง 3 แนวทางคือ 1การบริหารเอง ,2.จ้างบริหารและ3.ให้สัมปทาน นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้ฝ่ายบริหารไปทบทวนโครงการและสัญญาการให้สัมปทานทุกโครงการว่ามีโครงการใดที่ส่อแววว่าจะเกิดปัญหาในลักษณะเดียวกับการให้สัมปทานบริษัทปาร์คกิ้งฯบ้าง

“ได้สั่งการไปยังฝ่ายบริหารของทอท.ด้วยว่าให้ไปพิจารณาสัญญาระหว่างทอท.กับเอกชนที่อาจจะมีลักษณะเช่นเดียวกับที่ทำกับบ.ปาร์คกิ้งฯด้วย เพราะอาจจะเกิดปัญหาในลักษณะเดียวกันในอนาคต” นายปิยะพันธ์ กล่าว

นายปิยะพันธ์ กล่าวว่า ในช่วงเช้าวันที่ 11 ต.ค. 2553 ทางบริษัท ปาร์คกิ้งฯได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง ในข้อหาละเมิดสัญญามูลค่า 6.5 ล้านบาท พร้อมขอคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉิน ซึ่งศาลได้พิจารณาในวันเดียวกันและมีคำสั่งให้ยกฟ้อง เนื่องจากคดีไม่ได้อยู่ในอำนาจของศาลแพ่งแต่เป็นคดีของศาลปกครองกลาง   ซึ่งคาดว่าเร็วๆนี้ ทางผู้บริหารของบ.ปาร์คกิ้งคงจะไปฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งได้ให้ฝ่ายกฏหมายของทอท.เตรียมข้อมูลเพื่อไปชี้แจงต่อไป