posttoday

"รับฟังปัญหา เคารพกติกา ใส่ใจส่วนรวม" เปิดตำราบริหารตลาดพันล้าน "ยิ่งเจริญ"

27 กุมภาพันธ์ 2561

เปิดตำนานตลาดยิ่งเจริญและแนวคิดการดำเนินธุรกิจ จากปาก "ณฤมล ธรรมวัฒนะ" ประธานกรรมการบริษัท สุวพีร์ โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัทในเครือตลาดยิ่งเจริญ

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

เมื่อกว่า 60 ปีก่อน หญิงสาวที่จบการศึกษาเพียงแค่ชั้น ป.4 ทำงานรับจ้างสารพัด ตั้งแต่ช่างเสื้อ ขายผัก ขายข้าวแกงอยู่แถวเกียกกาย เขตดุสิต จนกระทั่งได้รับการชักชวนจากนายทหารอากาศรายหนึ่ง ให้ไปขายข้าวแกงแถวกองทัพอากาศ ย่านบางเขน-สะพานใหม่ ถนนพหลโยธิน ที่ยังไม่มีแหล่งอาหาร กลายเป็นจุดเริ่มต้นอันยิ่งใหญ่ของตำนานตลาดยิ่งเจริญและ สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ ผู้ก่อตั้ง

ปัจจุบันตลาดยิ่งเจริญ ถูกส่งต่อมาอยู่ภายใต้การดูแลของ ณฤมล ธรรมวัฒนะ ลูกสาวคนที่ 7 ของครอบครัว

ท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป การขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว การเกิดขึ้นของห้างสรรพสินค้าหลายต่อหลายแห่ง ตลาดยิ่งเจริญนับเป็นตัวอย่างสำคัญในการบริหารจัดการ รักษามาตรฐานได้อย่างแข็งแกร่งและไม่มีท่าทีจะหยุดลง

เปิดกว้าง รับฟัง เคารพกติกา

ณฤมล ประธานกรรมการบริษัท สุวพีร์ โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัทในเครือตลาดยิ่งเจริญ เดินอยู่ในตลาดพื้นที่กว่า 35 ไร่ ที่คุณแม่ของเธอผ่าอุปสรรคนานัปการด้วยความขยันขันแข็งและอดทน ดำเนินธุรกิจจนอยู่รอด โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2498 ใช้ฤกษ์โสเภณี จากหลวงปู่บุ่ง วัดใหม่ทองเสน

“ฟังฤกษ์แล้วไม่น่าจะดีเลยนะ แม่บอกว่าอ้าว โสเภณีมันอยู่ไกลแค่ไหน คนก็ยังดิ้นรนไปหาไง” ณฤมลย้อนถึงคำอธิบายในอดีตของคุณแม่และหลวงปู่บุ่ง

เธอเล่าว่า การบริหารงานในรุ่นคุณแม่ เป็นสไตล์วันแมนโชว์ บริหารและเป็นนักการตลาดจากจิตวิญญาณอย่างแท้จริง แม้จะเรียนจบเพียงแค่ชั้น ป.4 แต่สามารถตัดสินใจ มีวิสัยทัศน์ ควบคุมดูแลผู้คนและทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จ

“ท่านบริหารและเป็นนักการตลาดการที่เก่งมาก จบแค่ ป.4 แต่เรียนรู้จากประสบการณ์ จิตใต้สำนึกล้วนๆ  ความอดทนสูง ขยันประหยัด ความจำเป็นเลิศ และมีใจเกื้อกูลผู้อื่น  สมัยนั้นจะมีกิจกรรมดึงดูดลูกค้าเสมอ เช่น การแสดงลิเก ลำตัด โปรโมชั่นสินค้าราคาถูก พวกนี้เป็นกิจกรรมที่ท่านคิดขึ้นมาเอง เป็นจิตวิญญาณของแม่ค้า ซึ่งมันเป็นทฤษฎีตามหลักการตลาดอย่างหนึ่ง”

ตำราบริหารที่เธอยึดมาจากคุณแม่คือ การทำให้ทุกคนเคารพรักษากฎกติกา ปฏิบัติตามด้วยความเคร่งครัด รวมถึงให้เกียรติกันและกัน

“หลายคนบอกว่าแม่มีความเด็ดขาด อย่าลืมว่าคุณแม่ทำคนเดียว ลูกค้าสมัยนั้นเป็นพันคน คนเยอะมากถ้าไม่มีกติกา ไม่มีคนคุม ความเป็นระเบียบเรียบร้อยจะไม่เกิด” ผู้บริหารหญิงบอกและเชื่อว่า

การเคารพกฎหมาย กติกาสังคม เป็นพื้นฐานสำคัญของความสงบสุข สังคมวุ่นวายเพราะผู้คนมักล้ำเส้นและไม่เคารพกฎกติกา ขณะที่ผู้ดูแลก็ไม่ควบคุมให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎระเบียบ

"รับฟังปัญหา เคารพกติกา ใส่ใจส่วนรวม" เปิดตำราบริหารตลาดพันล้าน "ยิ่งเจริญ"

ตลาดยิ่งเจริญ กลายเป็นพื้นที่พบปะของคนในชุมชนมาตั้งแต่สมัยก่อน จนกระทั่งปัจจุบันยังคงวัฒนธรรมความใกล้ชิดระหว่างเจ้าของตลาด แม่ค้า และผู้ซื้อเสมอ

"เป็นพื้นที่ชุมชน มีคนมาพบปะพูดคุย จับจ่ายใช้สอย เจ้าของตลาด แม่ค้าและลูกค้าก็ค่อนข้างสนิทกัน มีสภากาแฟ มีอะไรไปคุยกัน ใครเจ็บไข้ได้ป่วย เมื่อก่อนเข้าถึงโรงพยาบาลยาก คุณแม่ก็จะเป็นตัวกลางให้ และบริจาคเงินให้โรงพยาบาลใกล้เคียงด้วย"

จัดการคน-พื้นที่ และเอาใจใส่กับปัญหา

ปัจจุบันตลาดยิ่งเจริญ มีผู้ค้าและผู้จับจ่ายใช้สอยหมุนเวียนในพื้นที่ประมาณหนึ่งหมื่นรายต่อละวัน ลูกค้ากลุ่มหลัก คือ กองทัพอากาศ สถาบันการศึกษาต่างๆ และร้านอาหาร รวมประมาณ 70% ผู้ซื้อปริมาณมากจะเข้ามาจับจ่ายในช่วงตี 2 – ตี  4  ที่เหลือ 30% เป็นกลุ่มครัวเรือน ประชาชนทั่วไป

ในด้านการจราจรแต่ละวันมีรถยนต์หมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 6,000-7000 คันในวันปกติ และ 10,000 คันในวันหยุดและเทศกาลสำคัญ

พื้นที่จอดรถมีทั้งหมด 4 ลาน จำนวนประมาณ 800 คัน  โดยอยู่ระหว่างปรับปรุงพื้นที่เป็นอาคารแนวสูงในลักษณะมิกซ์ยูสแบบผสมผสานและแก้ปัญหาที่จอดรถไม่เพียงพอ คาดว่าจะสามารถรองรับได้มากถึง 2,000 – 3,000 คัน

ผู้บริหารหญิง บอกว่า ปัญหาในอดีตและปัจจุบันไม่แตกต่างกันมาก เป็นเรื่องการบริหารจัดการคนและสภาพแวดล้อม ทุกวันนี้เมืองขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะกรุงเทพฯ โซนเหนือ ที่เป็นโซนที่มีประชากรขยายตัวมากที่สุด

“ปัญหาเหมือนเดิมเพียงแต่ขยายในวงกว้างมากขึ้น เพราะจำนวนคนและพื้นที่ใหญ่ขึ้น แต่เราเปลี่ยนการจัดการและบริหารด้วยรูปแบบใหม่ ทำเป็นบริษัท มีที่ปรึกษาช่วยเหลือ การทำงานเป็นทีมทำให้เราแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้นและยังเข้าถึงปัญหาได้ดีกว่าการคิดหรือตัดสินใจเพียงคนเดียว”

ณฤมลต้องการรับฟังปัญหาจากผู้อื่นและสร้างเครือข่ายอยู่เสมอ เพราะเชื่อว่าไม่สามารถประสบความสำเร็จได้เพียงลำพัง โดยร่วมกับชุมชนจัดโครงการดูแลสิ่งแวดล้อมในบริเวณตลาดและใกล้เคียง มีการคัดแยกขยะอย่างชัดเจน และจับมือกับภาครัฐ อย่างกระทรวงสาธารณะสุข กระทรวงพานิชย์ ภาคอุตสาหกรรมและกรมปศุสัตว์ เพื่อสร้างมาตรฐานสินค้า

“เราเป็นสัตว์สังคม อยู่ไม่ได้เพียงลำพัง ต้องมีเครือข่าย ทั้งในระดับผู้ค้า ชุมชน ที่เรายินดีรับฟัง เพื่อให้พวกเขาสะท้อนปัญหา แนะนำสิ่งต่างๆ และมาร่วมกันแก้ไขปัญหา  ทุกวันนี้เราแยกขยะอย่างชัดเจน มีระบบบำบัดน้ำเสีย รณรงค์ให้ผู้คนไม่ทิ้งขยะลงคลอง ควบคุมมลพิษต่างๆ ภายในตลาด โดยการสร้างห้องแลปเพื่อตรวจสอบคุณภาพอาหาร รวมถึงมีเครือข่ายกับภาครัฐดูแลประชาชน” 

"รับฟังปัญหา เคารพกติกา ใส่ใจส่วนรวม" เปิดตำราบริหารตลาดพันล้าน "ยิ่งเจริญ"

ตัวอย่างความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่างภาครัฐและตลาดยิ่งเจริญ คือการติดตั้งระบบคิวอาร์โค้ดที่แผงค้าหมู ลูกค้าสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้ หากนำไปประกอบอาหารและเกิดปัญหาสุขภาพ สามารถแจ้งกรมปศุสัตว์ได้ทันที

“เราแคร์เรื่องสุขอนามัย สุขภาวะของประชาชนเป็นเรื่องที่ต้องมาก่อน เราพูดเสมอว่า สะอาดก่อนอร่อย รสชาติต้องมาทีหลัง พยายามสกรีนระดับหนึ่งจากฟาร์มก่อนจะถึงมือผู้บริโภค แม้มันจะไม่ 100 % เพราะมาจากทั่วทุกสารทิศแต่ก็อยู่ในระดับที่น่าพอใจ และได้รับการยอมรับอย่างดีมาตลอด”

ในแง่ชุมชน นฤมลบอกว่า หนึ่งในความฝันของเธอคือการทำให้คลองที่อยู่ติดกับตลาดและชุมชนโดยรอบ รวมถึงเป็นคลองที่เธอเคยกระโดดเมื่อตอนเป็นเด็ก สะอาดมากกว่าที่เป็น

“สมัยก่อนรุ่นคุณแม่ชุมชนริมคลองไม่ได้มีจำนวนมากขนาดนี้ แต่ปัจจุบันหนาแน่นมาก จัดการลำบาก เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อยากพัฒนา ที่ผ่านมาได้ทดลองและขอความร่วมมือจัดการขยะในคลองกับคนในพื้นที่แล้ว แต่สุดท้ายพบว่า การแก้ปัญหาลำพังในพื้นที่อย่างเดียวไม่พอ เพราะมีขยะจากท้องที่อื่นๆ ไหลมารวมด้วย”

เราเดินผ่านทางเท้าโดยรอบตลาดยิ่งเจริญพบว่า ไร้การรุกล้ำจากแผงค้า ณฤมลยกความดีความชอบเรื่องนี้ให้กับคุณแม่ที่ออกคำสั่งอย่างชัดเจนมาตั้งแต่อดีตว่าห้ามใครขายบนทางเท้าเด็ดขาด

“แม่บอกว่า ถ้าทุกคนขายประชาชนจะไปเดินกันตรงไหน สองคือ การแข่งขันต้องแฟร์ พวกร้านข้างในจะอยู่กันได้อย่างไร ทุกคนต้องการอยู่ข้างหน้า มันเป็นการทำลายเศรษฐกิจ คนข้างหน้าอยู่ได้ คนข้างหลังตายไป เพราะฉะนั้นจะไม่ยอมเลยกับการขายของบนทางเท้า น่าเสียดายเหมือนกันท่านจากไปแล้วเกือบ 30 ปี แต่ทางเท้าหลายๆ แห่งในกทม.ยังมีร้านค้าอยู่”

"รับฟังปัญหา เคารพกติกา ใส่ใจส่วนรวม" เปิดตำราบริหารตลาดพันล้าน "ยิ่งเจริญ"

นอกเหนือจากวิสัยทัศน์ การวางนโยบาย และการบริหารจัดการแล้ว เจ้าของหรือผู้บริหารยังต้องรู้จักปัญหาในระดับรายละเอียดเล็กๆ ด้วย

เรื่องหนึ่งที่นฤมลเล่าให้ฟังคือ การจัดการหนูในตลาด ปัญหาคลาสสิคที่กวนใจทุกตลาดในเมืองไทย หลังจากที่ทดลองมาหลายยุคหลายสมัย เธอค้นพบว่าการหยุดฆ่าเป็นทางเลือกที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด

“เรื่องหนู แต่มันไม่หนูเลยนะ เราศึกษาว่าธรรมชาติของหนูคืออะไร เขาชอบขยะ เศษอาหาร จนพบว่าเขาชอบเปาะเปี๊ยะแผ่นมากที่สุด เราใช้เป็นเหยื่อล่อในกรงดัก ซึ่งประสบความสำเร็จมาก เมื่อได้หนูแล้ว เรานำมันย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่แหล่งกำจัดขยะของกทม.”

สำหรับแมลงสาป ตลาดยิ่งเจริญจัดการโดยใช้เบียร์เป็นเหยื่อล่อ ซึ่งณฤมลบอกว่าเป็นสิ่งที่แมลงสาปตัวใหญ่ชอบมาก ขณะที่ตัวเล็กจะจัดการด้วยแป้งข้าวจ้าว โอวัลติน และปูนซีเมนต์ โดยผสม 3 อย่างให้เข้ากัน นำไปวางตามพื้นที่ที่แมลงสาปชอบเดินผ่าน หลังจากที่มันกินเข้าไป จะเกิดภาวะกระหายน้ำและเสียชีวิตลงในที่สุด

นอกจากตัวอย่างเบื้องต้นแล้ว ตลาดยิ่งเจริญยังนำจุลินทรีย์มาจัดการแมลงโดยตัดวงจรการเจริญเติบโต และทำความสะอาดแผงค้า ทำให้ภายในตลาดสะอาดไม่มีกลิ่นในระดับที่พร้อมให้ทุกคนพิสูจน์

“เราต้องรู้มันทุกอย่างตั้งแต่แมลงวันยันการบริหารจัดการ รู้แล้วต้องเอาใจใส่ อย่าสักแต่ว่ารู้ สิ่งสำคัญคือทำอย่างต่อเนื่อง”

"รับฟังปัญหา เคารพกติกา ใส่ใจส่วนรวม" เปิดตำราบริหารตลาดพันล้าน "ยิ่งเจริญ"

ภายใต้อาณาจักรของยิ่งเจริญ มีแผงค้าประจำประมาณ 1,500 แผง แผงตลาดนัด 400-500 แผง ประกอบด้วย 3 โซนใหญ่ คือ โซนตลาดอาหารสดที่กินพื้นที่ส่วนใหญ่ 60 % โซนพลาซ่า ที่มีร้านขายเสื้อผ้า สินค้าไอที 30 % และโซนศูนย์อาหาร 10 % โดยอัตราการเช่าแผงประจำคิดเป็น 99 % ของพื้นที่  ขณะที่ตลาดนัดมี อัตราการเช่าประมาณ 75 %

ราคาแผงค้ามีหลากหลายราคา แตกต่างกันตามขนาดพื้นที่ ตำแหน่งที่ตั้ง และสินค้าที่ขาย โดยรายวันมีราคาตั้งแต่ 300 บาทขึ้นไป รายเดือน 10,000 บาทขึ้นไป และรายปี 100,000 ขึ้นไป

“ราคาหลากหลาย มีโปรโมชั่นตามแต่ละช่วงเวลา ทุกคนอยู่ได้โดยมีกำไรจากการค้า ปัญหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องส่วนตัว เช่นหนี้สิน การใช้เงินผิดประเภท ตามกฎระเบียบคือห้ามค้างเกิน 2 เดือน แต่ส่วนใหญ่เราพูดคุยกันได้ บางคนมีปัญหาสุขภาพและไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า ก็ยืดหยุ่นให้”

"รับฟังปัญหา เคารพกติกา ใส่ใจส่วนรวม" เปิดตำราบริหารตลาดพันล้าน "ยิ่งเจริญ"

ยกระดับตลาดสดเป็นศูนย์กลางของสังคม

ณฤมลเรียนจบมัธยมศึกจาก San Gorgonio รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ปริญญาตรีและโท สาขารัฐศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปัจจุบันในวัย 60 ปี กำลังศึกษาต่อในด้านยุทธศาสตร์การพัฒนา เนื่องจากเล็งเห็นว่า ความรู้สามารถเติมเต็มงานของเขาได้ นอกจากนี้การเข้าห้องเรียนยังได้พบปะกับมิตรสหาย เพิ่มพูนโลกทัศน์ และสายสัมพันธ์

เธอเปรียบเทียบการทำงานของตลาดเป็นเสมือนโปรโมเตอร์มวย เป็นตัวกลางระหว่างผู้ค้ากับผู้โภค คิดค้นหาวิธีให้คนเข้าตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยมองว่า เสน่ห์ของตลาดที่มีเหนือกว่าห้างสรรพสินค้า คือความเป็นธรรมชาติในการแข่งขันและความสดใหม่ของสินค้า

“ทุกคนเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเอง มันเกิดการแข่งขันทั้งในเรื่องของราคา การบริการ และตัวสินค้า เมื่อเกิดการแข่งขันมันเหมือนหนูถีบจักรแต่ละคนมันจะถีบไปเรื่อยๆ ผู้ที่ได้เปรียบคือผู้บริโภคที่จะได้รับสินค้าที่ดี ราคาถูก อีกเรื่องคือเสน่ห์ที่สะท้อนถึงความเป็นมนุษย์ การได้พบปะพูดคุย ต่อรองราคา ถามไถ่วิธีการปรุงอาหาร รวมถึงสารทุกข์สุขดิบระหว่างแม่ค้าและผู้ซื้อ”

"รับฟังปัญหา เคารพกติกา ใส่ใจส่วนรวม" เปิดตำราบริหารตลาดพันล้าน "ยิ่งเจริญ"

อนาคตลาดยิ่งเจริญ เตรียมเพิ่มพื้นที่เช่า โดยจะเพิ่มความหลากหลาย ในส่วนของไลฟ์สไตล์กลุ่มลูกค้ารายใหม่ เพื่อรองรับการคมนาคมที่สะดวกมากขึ้นจากรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) ภายใต้แนวคิด "ศูนย์กลางของสังคม" เช่น พื้นที่แบบคอมมูนิตี้มอลล์ โรงภาพยนตร์ หอประชุม ห้องประชุม ลานกิจกรรมขนาดใหญ่ และพื้นที่ส่วนกลาง

เธอบอกว่า ยิ่งเจริญหวังยกระดับมาตรฐานให้กับวงการตลาดสดให้มีความเป็นสากล โดยคงเอกลักษณ์วิถีไทยแบบยิ่งเจริญ ที่เป็นแหล่งอาหารสุขภาวะ และพร้อมเป็นแหล่งท่องเที่ยว พักผ่อน รวมถึงให้ความรู้ด้านอาหารไทย  นอกจากนั้นยังเพิ่มการตลาดออนไลน์ในชื่อแบรนด์ส่งสด www.songsod.com และร้านยิ่งสุขยิ่งปัน เพื่อเป็นตัวเลือกในการจับจ่ายให้กับผู้บริโภค

เจ้าแม่ตลาดพันล้าน ทิ้งท้ายว่า การทำตลาดให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ด้านหนึ่งคือการพัฒนาตนเอง รับฟังปัญหา ไม่หยุดนิ่งที่จะเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงทำให้ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องมองเห็นเป้าหมายและพร้อมใจเดินไปด้วยกัน  ขณะที่อีกด้านต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม เคารพกฎหมาย กติกามารยาท และสิทธิของผู้อื่น

“หน้าที่ของทุกคนในสังคมคือการเคารพสิทธิของผู้อื่น อยู่ภายใต้กฎกติกาเดียวกัน และให้เกียรติกัน ตามใจกูคือไทยแท้นั้นหมดไปแล้ว”