posttoday

สนช.ผ่านกฎหมายอีอีซี ดัน "รมว.กลาโหม" ร่วมนั่งบอร์ดนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ

08 กุมภาพันธ์ 2561

สนช.ผ่านกฎหมาย "อีอีซี" ดันรมว.กลาโหมร่วมนั่งบอร์ดคุมนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ อ้างช่วยดูแลพื้นที่ชายแดนและทะเล "วิษณุ"ประกาศรัฐบาลเดินหน้าต่อยอดอีสเทิร์นซีบอร์ด

สนช.ผ่านกฎหมาย "อีอีซี" ดันรมว.กลาโหมร่วมนั่งบอร์ดคุมนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ อ้างช่วยดูแลพื้นที่ชายแดนและทะเล "วิษณุ"ประกาศรัฐบาลเดินหน้าต่อยอดอีสเทิร์นซีบอร์ด

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 170 เสียงเห็นชอบให้ร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ประกาศใช้เป็นกฎหมาย โดยหลังจากนี้จะส่งให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  (คสช.) นำขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป

ทั้งนี้ ระหว่างการอภิปรายได้มีสมาชิกสนช.ส่วนใหญ่สอบถามว่าทำไมถึงมีการแก้ไข มาตรา 6 ที่กำหนดให้ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพ มีความต่อเนื่อง จะตราพ.ร.ฎ.ให้พื้นที่บางส่วนในเขตจังหวัดที่ติดต่อหรือเกี่ยวข้องกับพื้นที่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการดังกล่าว ให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกด้วยก็ได้

โดยสมาชิกสนช.ส่วนใหญ่ตั้งข้อสังเกตว่าการกำหนดเช่นนี้อาจทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญและขยายพื้นที่พิเศษเลยออกไปจากภาคตะวันออกได้ เนื่องจากการพิจารณาของสนช.ในวาระแรกนั้นได้รับหลักการว่าด้วยการกำหนดให้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมีเฉพาะจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และพื้นที่อื่นใดในภาคตะวันออกที่ถูกประกาศโดยพ.ร.ฎ.เท่านั้น

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า เรื่องนี้มาจากคณะกรรมการระเบียงเศรษฐกิจที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  เป็นประธาน ที่ควรหาทางให้จุดที่เชื่อมโยงเกี่ยวกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคเข้ามาอยู่ในการได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายด้วย

“ตัวอย่างที่ชัดและเป็นรูปธรรมที่สุด คือ สถานีรถไฟมักกะสัน จะกันเอาไว้สำหรับให้คนที่มาลงทุนและพัฒนาได้สิทธิประโยชน์ จึงถือเสมือนว่าเป็นพื้นที่ไข่ขาวด้วยโดยจะต้องออกเป็นพ.ร.ฎ.ที่ผ่านคณะรัฐมนตรี ภายใต้ความจำเป็นและเพื่อประโยชน์สาธารณูปโภคหรือโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น จะเอาทำไปอย่างอื่นไม่ได้ เช่น เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาที่อยู่อาศัย หรือ การตั้งโรงงานอุตสาหกรรม จึงคิดว่าเมื่อเราเขียนในมาตรา 6 เช่นนี้ก็ยังอยู่ในหลักการของกฎหมาย” นายวิษณุ กล่าว

ขณะที่ มาตรา 10 ว่าด้วยสัดส่วนของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก นายมณเฑียร บุญตัน และ พล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณ สมาชิกสนช.เสนอให้เพิ่มรมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รมว.ศึกษาธิการ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายรัฐวิสาหกิจ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อัยการสูงสุด เข้ามาเป็นคณะกรรมการฯด้วย เพื่อให้มีกรรมการที่มีคุณวุฒิครบทุกด้านโดยไม่จำกัดเฉพาะแต่เศรษฐกิจเท่านั้น

นายวิษณุ กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายฯตามที่กำหนดไว้ในร่างกฎหมายนั้นคณะรัฐมนตรีได้มีการปรับแก้ไขมาแล้วหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้มีนโยบายว่ากระทรวงไหนที่ไม่ได้มีผู้แทนเข้ามานั่งในกรรมการนโยบายฯ จะต้องดำเนินการขับเคลื่อนงานให้สอดรับไปด้วย ส่วนการเพิ่มสัดส่วนของรมว.กลาโหมและรมว.ศึกษาธิการเข้ามาเป็นกรรมการนโยบายฯโดยตำแหน่ง เนื่องจากมีสมาชิกสนช.เสนอต่อคณะกมธ.วิสามัญและมีเหตุผลที่เป็นที่ยอมรับ โดยกรณีของรมว.กลาโหมนั้นพบว่าการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษจะมีเรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องกับพื้นที่ชายแดน และ ชายฝั่งทะเล จึงคิดว่าควรให้รมว.กลาโหมที่มีฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาทุกเหล่าทัพเข้ามาทำหน้าที่ดูแล ขณะที่ กรณีของรมว.ศึกษาธิการ มีเหตุผล คือ ในระยะยาวจะต้องพัฒนาบุคคลากรเพื่อรองรับเข้าไปทำงานในอีอีซี

ต่อมา  คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฯ ได้แก้ไขบทบัญญัติมาตรา 49 ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ การกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดินมีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เฉพาะเพื่อการประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาตได้ ซึ่งที่ประชุมสนช.ได้ให้ความเห็นชอบกับมาตราดังกล่าว

ภายหลังสนช.ลงมติให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายทั้งฉบับ นายวิษณุ กล่าวว่า ในนามของรัฐบาลต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้ความร่วมมือในการช่วยจัดทำร่างกฎหมายฉบับนี้ ในโอกาสรัฐบาลจะใช้กฎหมายฉบับนี้เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความก้าวหน้า ซึ่งเป็นการต่อยอดจากอีสเทิร์นซีบอร์ด และเชื่อว่าผลผลิตที่เกิดขึ้นจากกฎหมายเขตพัฒนาพิเศษฉบับแรกนี้จะนำมาซึ่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมและความเป็นธรรมต่อไปในอนาคต