posttoday

อินเดีย รับขึ้นทะเบียน “ผ้าไหมยกดอกลำพูน” เป็นสินค้าจีไอ

12 มกราคม 2561

“พาณิชย์” ระบุ อินเดียประกาศขึ้นทะเบียน “ผ้าไหมยกดอกลำพูน” เป็นสินค้าจีไอให้ไทย คาดช่วยยกระดับและสร้างการยอมรับผ้าไหมไทยเพิ่มขึ้น เตรียมลุยจดต่ออีก 6 สินค้าใน 3 ประเทศ

“พาณิชย์” ระบุ อินเดียประกาศขึ้นทะเบียน “ผ้าไหมยกดอกลำพูน” เป็นสินค้าจีไอให้ไทย คาดช่วยยกระดับและสร้างการยอมรับผ้าไหมไทยเพิ่มขึ้น เตรียมลุยจดต่ออีก 6 สินค้าใน 3 ประเทศ

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า อินเดียได้ประกาศขึ้นทะเบียน “ผ้าไหมยกดอกลำพูน” ของไทยเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2560 ที่ผ่านมา หลังจากที่กรมได้ร่วมมือกับกรมหม่อนไหมและสถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย ได้ยื่นคำขอไปยังประเทศอินเดียตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.2558 ซึ่งถือเป็นความพยายามที่กรมได้ผลักดันให้เกิดความคุ้มครองสินค้าจีไอของไทยในเวทีต่างประเทศ

ทั้งนี้ ผ้าไหมยกดอกลำพูนของไทยได้รับการขึ้นทะเบียนจีไอในต่างประเทศแล้ว 2 ประเทศ โดยอินเดียนับเป็นประเทศที่ 2 ต่อจากประเทศอินโดนีเซียที่รับขึ้นทะเบียนไปตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.2559 ถือเป็นการยอมรับในคุณภาพและเอกลักษณ์สินค้าหัตถกรรมไทย โดยเฉพาะเอกลักษณ์ในการทอผ้าไหมยกดอกลำพูนว่าไม่เหมือนที่ใดในโลก เพราะมีการทอลวดลายให้สูงกว่าผืนผ้า โดยยกไหมบางเส้น ข่มบางเส้น ใช้ตะกอลอย และใช้เส้นไหมตีเกลียวเป็นทั้งเส้นยืนและเส้นพุ่ง รวมทั้งมีเส้นไหมเพิ่มพิเศษในการทอยกให้เกิดลวดลาย มีจุดกำเนิดจากการเข้ามาในลำพูนของชนชาวยอง ที่ได้นำวิทยาการแขนงต่างๆ โดยเฉพาะการทอผ้าซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชนชาวยองชั้นสูง เป็นมรดกทางหัตถกรรมล้ำค่าของชนชั้นเจ้าชาวยองที่สืบทอดต่อกันมา และนำเข้ามาผลิตในจังหวัดลำพูน

“การประกาศรับจดทะเบียนสินค้าจีไอดังกล่าว ถือเป็นเรื่องน่ายินดีและน่าภาคภูมิใจที่ต่างชาติยอมรับในคุณภาพและเอกลักษณ์ของสินค้าไทยอย่างผ้าไหมยกดอกลำพูน โดยเฉพาะประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของการทอผ้าแบบยกดอกในภูมิภาคเอเชียนี้”นายทศพล กล่าว

นายทศพล กล่าวว่า ปัจจุบันกรมอยู่ระหว่างส่งเสริมให้มีการขึ้นทะเบียนจีไอในต่างประเทศอีก 6 สินค้า  3 ประเทศ ประกอบด้วยจีน ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ มะขามหวานเพชรบูรณ์ และส้มโอทับทิมสยามปากพนัง ประเทศกัมพูชา ได้แก่ กาแฟดอยตุง และประเทศเวียดนาม ได้แก่ มะขามหวานเพชรบูรณ์ และลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน เพื่อส่งเสริมให้สินค้าไทยได้รับการคุ้มครองในต่างประเทศ และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป