posttoday

ปั้นมหาอำนาจเกษตร

05 มกราคม 2561

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ชู 5 แนวทางหนุนการแข่งขันประเทศ ดันไทยสู่มหาอำนาจเกษตรโลก

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ชู 5 แนวทางหนุนการแข่งขันประเทศ ดันไทยสู่มหาอำนาจเกษตรโลก

นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการได้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันเสร็จแล้ว โดยได้วางแนวทางการพัฒนา 5 ด้านสำคัญ เน้นพัฒนา ต่อยอดในสิ่งที่ประเทศไทยมีพื้นฐานอยู่แล้ว โดยจะนำแผนดังกล่าวไปรวมกับยุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆ รวมเป็น 6 ด้าน ก่อนนำเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ภายในวันที่ 24 ม.ค. 2561 เพื่อนำไปรับฟังความคิดเห็นเดือน ก.พ. 2561 ก่อนกำหนดเป็นแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติในระยะ 20 ปีต่อไป

สำหรับยุทธศาสตร์หลักที่สำคัญ ได้แก่ 1.การเป็นมหาอำนาจด้านการเกษตรของโลก ทั้งการผลิตและส่งออก สร้างความได้เปรียบด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่สามารถพัฒนาต่อยอดโครงสร้างธุรกิจเกษตรด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม 2.อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต การแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมบริการและดิจิทัล ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ อุตสาหกรรมบริการขนส่งและโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมเพื่อความมั่นคงของประเทศ 3.เป็นแม่เหล็กการท่องเที่ยวระดับโลก พัฒนาธุรกิจ ท่องเที่ยวให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น โดยการใช้อัตลักษณ์และวัฒนธรรมไทย

สำหรับด้านที่ 4 คือ การเชื่อมไทย เชื่อมโลก โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพในการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมอย่างไร้รอยต่อจากอาเซียน และด้านที่ 5 สร้างนักรบเศรษฐกิจยุคใหม่ ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ กลาง และเล็ก ให้เป็นผู้ประกอบการอัจฉริยะ พร้อมกับสร้างโอกาสให้เข้าถึงบริการทางการเงิน ตลาด และข้อมูล

นายพรชัย รุจิประภา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้ได้จัดทำร่างการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานที่มีทั้งหมด 3 ด้าน 17 ยุทธศาสตร์เสร็จแล้ว หลังเปิดรับฟังความคิดเห็นครบ 4 ครั้งแล้ว โดยเรื่องไฟฟ้าได้เสนอให้ 3 การไฟฟ้า ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ควรอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงาน เนื่องจากตามหลักการจะทำให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพสูงสุด

ทั้งนี้ ร่างดังกล่าวคณะกรรมการได้จัดทำข้อสรุปเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แล้ว จากนั้นจะต้องผ่านขั้นตอนการนำเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการร่วมประธานปฏิรูป คณะกรรมการยุทธศาสตร์ แล้วจึงนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป ซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็นเรื่องระยะยาว 20  ปีที่ต้องค่อยๆ ปรับ