posttoday

เมื่อได้ลองขับรถไฟความเร็วสูง

16 ธันวาคม 2560

สมัยเด็กเคยไปนั่งยานอวกาศจำลองกลางสวนสยาม ตอนนั้นรู้สึกตื่นเต้นข้างในมืดมีจอภาพเหมือนไปสำรวจจักรวาล ล่องลอยไปดวงดาวต่างๆ

โดย ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

สมัยเด็กเคยไปนั่งยานอวกาศจำลองกลางสวนสยาม ตอนนั้นรู้สึกตื่นเต้นข้างในมืดมีจอภาพเหมือนไปสำรวจจักรวาล ล่องลอยไปดวงดาวต่างๆ หลบอุกกาบาตที่จะวิ่งมาชน เครื่องเล่นแบบนี้ทันสมัยสุดแล้วในสมัยนั้น ประทับใจจนขนาดเก็บมาอยู่ในความทรงจำปัจจุบัน

มายุคนี้ห้องจำลองเสมือนจริงมีให้เห็นไปทั่ว โดยเฉพาะการเล่นเกมตู้ สงครามข้าศึก ยิงรถถัง เลเซอร์สะบั้นหั่นแหลก ขับรถแข่งแซงโค้งกระเด็นออกนอกจอ

เดือนที่แล้วมันทำให้ผมหวนนึกถึงบรรยากาศที่สวนสยามเมื่อ 30 ปีก่อน เมื่อมีโอกาสไปทดลองขับรถไฟความเร็วสูงที่ประเทศจีน แต่ไม่ใช่รถไฟหัวกระสุนจริงนะครับ เป็นหัวรถไฟจำลองที่ศูนย์ฝึกอบรมวิชาชีพรถไฟครบวงจรที่เมืองอู่ฮั่น แห่งเดียวในประเทศจีน ที่เข้าไปนั่งขับบรรยากาศเหมือนจริงทุกประการ

ถึงแม้จะไม่โลดโผนเหมือนนั่งยานอวกาศ แต่การอยู่ในห้องจำลองบนความเร็วที่พา กระชากไต่ระดับถึง 300 กิโลเมตร/ชั่วโมง มันชวนให้หวาดเสียว เพราะจินตนาการไปด้วยว่าเรารับผิดชอบพาผู้โดยสารหลายร้อยคนร่วมชะตากรรมบนความปลอดภัยขั้นสูงสุด

ที่มาของทริปนี้ กระทรวงต่างประเทศจีนเชิญสื่อมวลชนไทย-ลาว ดูงานเรื่องรถไฟความเร็วสูงในหลายเมืองของจีน จุดเยี่ยมชม เช่น ศูนย์บัญชาการใหญ่ บริษัทการรถไฟที่ดูแลกิจการรถไฟความเร็วสูง ศูนย์ควบคุมตารางการรถไฟแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์รถไฟในสองเมืองใหญ่ที่คุนหมิงและปักกิ่ง เพื่อสร้างความมั่นใจว่ารถไฟจีนมีมาตรฐานและก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยี ซึ่งไทยและ สปป.ลาว ลงนามให้จีนมาลงทุนสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามประเทศ เปิดใช้ในปี 2564

ว่าตามจริงนวัตกรรมรถไฟความเร็วสูงของจีนพัฒนาในระดับไฮสปีดจริงๆ ในช่วง 10 ปีหลังมานี้ จนขึ้นแท่นเป็นอภิมหาที่สุดแห่งรถไฟความเร็วสูงในโลก ทั้งเส้นทางบุกป่าฝ่าดง ลุยทะเลทราย ไปหิมะ ระยะทางก็ยาวถึง 2.5 หมื่นกิโลเมตรทั่วประเทศ ความเร็วอยู่ที่ 350 กิโลเมตร/ชั่วโมง จีนต้องการใช้รถไฟความเร็วสูงเป็นพาหนะขนถ่ายคน สินค้า เหนืออื่นใดใช้ทะลุทะลวงตามยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมเชื่อมต่อประเทศต่างๆ กว่า 60 ประเทศ ฟื้นความยิ่งใหญ่ในอดีตกลับมา

ที่เมืองอู่ฮั่นที่คณะจีนนำเราไปเยี่ยมชมคือ ศูนย์อบรมวิชาชีพการรถไฟความเร็วสูงประจำนครอู่ฮั่น (Wuhan High-speed Railway Vocational Skill Training Duan) ศูนย์แห่งนี้เป็นศูนย์ฝึกระดับชาติของจีนเพิ่งเปิดเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมานี่เอง

เหตุที่ตั้งอยู่ในเมืองอู่ฮั่นก็เพราะเมืองนี้เป็นจุดศูนย์กลางการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายต่างๆ ไปภาคเหนือ ใต้ ออก ตก รวมกว่า 2.5 หมื่นกิโลเมตร สถานีรถไฟความเร็วสูงของอู่ฮั่นก็ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของจีนและได้รับรางวัลมาแล้ว และยังเชื่อมกับรถไฟสายใต้ดินอีกหลายสายที่วิ่งส่งผู้โดยสารในเมือง

ในหัวรถไฟจำลองที่ผมเข้าไปทดสอบ ปุ่มบังคับไม่มากมายเหมือนเครื่องบิน ขั้นตอน ต่างๆ ดูไม่ยุ่งยาก เช่น ใช้คันโยกเวลาออกตัว การเพิ่มระดับความเร็วจาก 0-300 กม./ชั่วโมง เวลาเจอหิมะหรือฝนจะต้องทำอย่างไร และช่วงเทียบชานชาลาที่ต้องชะลอรถให้เนียนห้ามเกินเส้นที่กำหนดไว้

ใครที่ได้มีโอกาสนั่งรถไฟความเร็วสูงจะรู้ ว่าเรียบ เร็ว ไม่ต่างจากเครื่องบิน เผลอๆ อาจจะนุ่มกว่าด้วยซ้ำ เพราะที่นั่งสะดวกสบาย ยิงยาวอย่างเดียว ไม่ต้องกังวลเรื่องตกหลุมอากาศครืนๆ

ผู้ที่จะมาเป็นพนักงานขับรถไฟความเร็วสูงต้องผ่านการฝึกฝนหลายชั่วโมงบินที่มีมาตรฐานการฝึกอบรมเข้มข้นเพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้โดยสาร

หงซื่อเฉียง ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรม เล่าให้เราฟังว่า ศูนย์แห่งนี้เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของจีน จะอบรมงานด้านรถไฟความเร็วสูงครบทุกวงจร วิชาหลักๆ คือ การสื่อสาร ระบบไฟฟ้า การฝึกขับ คนที่มาเรียนจะเป็นนักศึกษาที่เรียนเอกวิชาวิศวะรถไฟ การฝึกจะกินนอนที่นี่ใช้เวลาตั้งแต่ 11 วันจนถึง 2 ปี ทั้งหมดอยู่ที่ลักษณะงานที่จะทำ เช่น ถ้าเป็นพนักงานขับรถไฟต้องอบรมนาน 2 ปี ที่สำคัญต้องมีพื้นฐานการเรียนมาจากที่อื่นก่อนถึงจะมาฝึกที่นี่ได้ เมื่ออบรมเสร็จทุกคนต้องผ่านการสอบและได้ประกาศนียบัตรรับรอง

สำหรับค่าใช้จ่าย ถ้าเป็นบริษัทการรถไฟจีนส่งมาไม่ต้องเสีย แต่ถ้าเป็นต่างชาติก็มีบ้าง กระนั้นที่ผ่านมามีไม่มาก ส่วนใหญ่หลายประเทศเลือกที่จะมาดูงาน รวมถึงประเทศไทย ซึ่งแต่ละปีทางศูนย์สามารถรองรับการฝึกได้ 1.4 หมื่นคน ผ่านมา 3 ปี จนถึงขณะนี้ฝึกไปแล้ว 6.3 หมื่นคนเพื่อไปทำงานด้านรถไฟความเร็วสูง

หงซื่อเฉียง บอกว่า ก่อนหน้าที่ไม่มีศูนย์ฝึกอบรมจะใช้วิธีเรียนรู้กันในหน่วยงาน หรือในมหาวิทยาลัยก็มีวิชาวิศวะรถไฟ แต่ปัจจุบันจีนได้ขยายเส้นทางรถไฟความเร็วสูงมากขึ้น ทำให้มีความต้องการผู้เชี่ยวชาญ พนักงานด้านนี้เป็นเงาตามตัว การจัดตั้งศูนย์ฝึกช่วยพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมรองรับได้มาก

สำหรับศูนย์ฝึกทักษะมนุษย์รถไฟความเร็วสูง รัฐบาลจีนได้ลงทุนสร้างด้วยงบ 1,280 ล้านหยวน หรือประมาณ 6,000 ล้านบาท รองรับการฝึกบุคลากรได้ครั้งละ 1,400 คน มีอาคารใหญ่ที่ใช้เป็นหัวใจประกอบไปด้วย ศูนย์จำลองตรวจสอบตารางคิวรถไฟ ห้องนิทรรศการรถไฟความเร็วสูง ห้องฝึกอุปกรณ์ ห้องเรียนทฤษฎี ห้องฝึกในส่วนงานต่างๆ เช่น ช่างเทคนิค การดูแลเครื่องยนต์ เทคโนโลยี ระบบควบคุม ระบบสื่อสาร การขับรถไฟความเร็วสูงในห้องรถไฟจำลองอีกนับสิบห้อง

ครับ เทคโนโลยีและการฝึกคนของจีนนี่ไม่ต้องห่วง นึกจินตนาการอีก 4-5 ปี ประเทศไทยจะได้มีรถไฟความเร็วสูงสัญชาติจีนใช้เส้นกรุงเทพฯ-โคราช ถึงตอนนั้นรถไฟหลายสายในกรุงเทพฯและปริมณฑลคงเสร็จพอดี การคมนาคมในเมืองน่าจะสะดวกคล่องตัว ข้อสำคัญ รถไฟความเร็วสูงราคาต้องไม่แพงเกินไป มิฉะนั้นจะไม่ตรงโจทย์ คนจะไม่ขึ้นและขาดทุนได้