posttoday

ม็อบมาบตาพุดสลายการชุมนุมแล้ว

01 ตุลาคม 2553

ม็อบมาบตาพุดประกาศเลิกชุมนุมแล้ว หลังเคลื่อนขบวนไปยื่นหนังสือหน้าสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ลั่นให้เวลารัฐทบทวน 2 สัปดาห์ พร้อมกลับมาชุมนุมใหม่

ม็อบมาบตาพุดประกาศเลิกชุมนุมแล้ว หลังเคลื่อนขบวนไปยื่นหนังสือหน้าสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ลั่นให้เวลารัฐทบทวน 2 สัปดาห์ พร้อมกลับมาชุมนุมใหม่

รายงานข่าวแจ้งว่าหลังจากผู้ชุมนุมเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกประมาณ 200 คนเคลื่อนขบวนไปปราศัยหน้าสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาตาพุดและยื่นหนังสือต่อนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม คณะอนุกรรมการติดตามรายงานผลการแก้ไขปัญหาในพื้นที่มาบตาพุด

ขณะนี้ได้ถอนตัวออกจากนิคมเพื่อกลับมาที่หน้าศูนย์ราชการจังหวัดระยองและประกาศยกเลิกการชุมนุมในช่วงเย็นวันนี้แล้ว

นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกกล่าวปราศัยเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการประกาศ 11 ประเภทกิจการรุนแรง รวมทั้งเรียกร้องให้ทางนิคมฯเสนอรัฐบาลออกมติครม.หรือกฎระเบียบใดๆกำหนดให้โครงการที่มาลงทุนในมาบตาพุด เปิดเผยข้อมูลการทำผังเมืองและเปิดเผยข้อมูลความสามารถในการรองรับมลพิษของนิคมฯเป็นระยะๆ

โดยจะให้เวลารัฐบาล 2 สัปดาห์ในการพิจารณากำหนดท่าทีที่ชัดเจนต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว หากไม่มีการตอบรับจะกลับมาชุมนุมใหม่

ทั้งนี้ ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนตั้งแต่เวลา 10.00 น. และเจอกับด่านสกัดของตำรวจบริเวณแยกสะเดา จากนั้นมีการเจรจาให้ผ่านทางและเคลื่อนขบวนไปถึงหน้าสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาตาพุดเวลา 11.30 น. แล้วเริ่มปราศรัย จนถึงเวลา 12.00 น. นายพุทธิพงษ์ได้มารับหนังสือและข้อเรียกร้อง พร้อมกล่าวว่ารัฐบาลยินดีรับฟังข้อมูลของทุกฝ่าย ในระยะเวลาอันสั้น 3-4 สัปดาห์จะเชิญตัวแทนเครือข่ายมาแลกเปลี่ยนข้อมูลกับนายกรัฐมนตรีผ่านสื่อโทรทัศน์

"ปัญหามาบตาพุดไม่ได้แก้เสร็จในวันเดียว บางครั้งอาจไม่ถูกใจไปเสียทุกเรื่องแต่ทั้งรัฐและผู้ชุมนุมมีเป้าหมายเดียวกันคือการปกป้องสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ดังนั้นต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดต่อไป"นายพุทธิพงษ์ กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่าการเคลื่อนขบวนครั้งนี้เป็นไปด้วยความสงบ จำนวนผู้ชุมนุมลดลงจากเมื่อวานอย่างเห็นได้ชัด และมีกลุ่มกรีนพีซประมาณ 20 คนมาร่วมขบวนด้วย โดยเวลา 9.00 น.กลุ่มกรีนพีซได้ไปที่หน้าสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดก่อนเพราะนัดหมายกับเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกว่าจะเคลื่อนขบวนเวลา 9.00 น. โดยนั่งจับมือปิดประตูทางเข้าไว้

แต่เนื่องจากการเคลื่อนขบวนล่าช้ากว่ากำหนด 1 ชั่วโมง กลุ่มกรีนพีซจึงถอนตัวกลับมาที่สมทบกับเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกที่หน้าศูนย์ราชการฯเพื่อร่วมขบวนเข้าไปอีกครั้ง ในเวลาเดียวกันเครือข่ายประมงพื้นบ้านได้นำเรือประมาณ 100 ลำมาลอยลำบริเวณแหลมเจริญเพื่อร่วมแสดงออก รวมทั้งเรือเรนโบว์วอริเออร์ของกรีนพีซก็จอดลอยลำอยู่บริเวณปากน้ำระยองโดยมีเรือของกรมเจ้าท่าขวางทางไว้

สำหรับเรือลำดังกล่าวจะแวะที่มาบตาพุดเป็นจุดสุดท้ายของการเดินทางมาเมืองไทยและจะเดินทางไปประเทศอินโดนีเซียในคืนวันพรุ่งนี้

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้ช่วยรมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการเข้ารับหนังสือจากกลุ่มผู้ชุมนุมเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ว่า กลุ่มผู้ชุมนุมได้เสนอให้มีการจัดเวทีสาธารณะเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างตัวแทนชุมชน นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โดยต้องการให้แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน และรับฟังความคิดเห็นผ่านสื่อสาธารณะ โดยได้รับปากผู้ชุมนุมาไปว่าจะเร่งจัดให้มีเวทีดังกล่าวเกิดขึ้นภายใน 3 สัปดาห์ จากนี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ผู้ชุมนุมยังได้นำเสนอแนวทาง เหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับประกาศกิจการรุนแรง 11 กิจการเนื่องจากเห็นว่ายังไม่ครอบคลุมบางกิจการ และมีอีกหลายกิจการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน โดยการร่วมชุมนุมในครั้งได้มีตัวแทนจาก 16 จังหวัดภาคใต้ และภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ เข้าร่วมด้วย โดยในแต่ละพื้นที่ได้นำเสนอปัญหาในท้องถิ่นเข้ามา ซึ่งก็ได้รับข้อเสนอทุกเรื่องไว้ และจะลงพื้นที่ไปดูแลปัญหาดังกล่าว