posttoday

แก้เกมเฟซบุ๊ก"Reach"ลด แนะซีทูซีปรับคอนเทนต์

09 พฤศจิกายน 2560

หากแบรนด์ขายสินค้าหรือทำโปรโมชั่นเพียงอย่างเดียวแน่นอนว่าการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ จะมีน้อยลง

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย 

กระแสข่าวการโพสต์สินค้าและบริการของเฟซบุ๊กในปีนี้ว่ามีอัตราการเข้าถึงคนได้น้อยลง 20% นั่นย่อมหมายความว่า การทำตลาดในโซเชียลมีเดียจากนี้ไปของแบรนด์ต่างๆ โดยเฉพาะแบรนด์ใหม่ที่มีฐานการเข้าถึงคนได้น้อยจะได้ยากกว่าแบรนด์อื่นๆ ส่งผลให้แบรนด์ต่างๆ ต้องปรับกลยุทธ์การตลาด การขายสินค้าในโลกของโซเชียลมีเดียครั้งใหม่ เพื่อรองรับกับนโยบายของเฟซบุ๊ก

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย และกรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท ตลาด ดอท คอม เปิดเผยว่า กลยุทธ์การตลาดโซเชียลมีเดียเพื่อรับมือกับการเข้าถึงคนได้น้อยลงของเฟซบุ๊ก คือ การเข้าสู่ยุคการสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพในเชิงสร้างสรรค์เป็นความรู้ หากแบรนด์ขายสินค้าหรือทำโปรโมชั่นเพียงอย่างเดียวแน่นอนว่าการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ จะมีน้อยลง

สำหรับกลยุทธ์การสร้างเนื้อหา คนส่วนใหญ่อยากรู้ คือ มีสาระและเป็นประโยชน์ต่อชีวิต ไม่ว่าจะเป็น สุขภาพ หรือกระทั่งความสวยความงาม มีความสดใหม่อยู่เสมอ เช่น ถ้าเพจขายรองเท้าก็ควรแนะนำวิธีการเลือกรองเท้า แบบแตกต่างที่เหมาะสมกับการแต่งตัว หรือเทรนด์รองเท้าที่กำลังมาแรง และหากขายเสื้อผ้าก็ควรสร้างคอนเทนต์ที่เป็นแฟชั่นจากต่างประเทศหรือกระทั่งเซเลบริตี้ในไทย เป็นต้น ที่สำคัญเนื้อหาต้องเป็นสไตล์ของตัวเองที่ครีเอทขึ้นมา

ขณะที่อีกกรณีหนึ่ง การลงทุนซื้อการเข้าถึงจากทางเฟซบุ๊ก ซึ่งก็เป็นทางลัดสำหรับแบรนด์ใหม่ๆ อย่างไรก็ดีการใช้งบลงทุนอาจจะเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ประกอบการรายเล็กๆ ในโซเชียลคอมเมิร์ซ หรือในกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นผู้ขายสินค้าให้กับผู้บริโภค (Customer to Customer : C2C) หากเฟซบุ๊กกำหนดการเข้าถึงจริง โอกาสที่โซเชียลคอมเมิร์ซในรูปแบบซีทูซีจะลดลงก็มีความเป็นไปได้ เมื่อเทียบกับผู้ดำเนินธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีสามารถลงทุนได้

อย่างไรก็ดี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึง อีกหนึ่งกลยุทธ์การกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่อยากให้เนื้อหานั้นเข้าถึง โดยสามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายที่น่าจะสนใจคอนเทนต์นั้นๆ หรือแม้กระทั่งเลือกช่วงเวลาที่มีคนเอนเกจเฟซบุ๊กจำนวนมาก สำหรับ Zocial Awards 2016 พบว่า ช่วงเวลาที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กนิยมโพสต์มากที่สุดยังคงเป็นช่วง 10.00-12.00 น. ของแต่ละวัน รองลงมาก็เป็นช่วงบ่าย และก็มาพีกอีกทีในช่วง 20.00-21.00 น.

ทางด้านกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้ปรับตัวจากช่องทางออฟไลน์มาสู่ช่องทางออนไลน์ กฤตภาส สุทธาผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ขาวละออเภสัช ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสมุนไพรขาวละออ กล่าวว่า บริษัทเริ่มขยายช่องทางจัดจำหน่ายจากออฟไลน์มาสู่ออนไลน์อย่างจริงจังเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา โดยสร้างช่องทางจำหน่ายผ่านแบรนด์ดอทคอม และจำหน่ายผ่านมาร์เก็ตเพลสของลาซาด้า

นอกจากนี้ ยังใช้เฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือในการเอนเกจ โดยเป็นช่องทางสร้างการรับรู้สมุนไพรและประโยชน์ในด้านต่างๆ สามารถประยุกต์ใช้ร่วมกับการรักษาแพทย์ปัจจุบัน เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ อาทิ คนรุ่นใหม่ 20 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ดีปัญหาของที่แบรนด์ใหม่ๆ หรือรายเล็กต้องเผชิญ ในยุคที่การเข้าถึงของเฟซบุ๊กที่น้อยลง มองว่าถึงเวลาที่ทุกคนต้องปรับตัวการสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ ตรงกับกลุ่มเป้าหมายสนใจซึ่งจะช่วยคนเข้ามาแชร์และเห็นฟีดนั้นๆ 

ทั้งนี้ อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่จะเพิ่มการเข้าถึง การดึงให้คนเข้ามามีส่วนร่วมบนเพจ มองว่า การจัดกิจกรรม การประกวดโครงการต่างๆ ของแบรนด์ผ่านทางเฟซบุ๊ก เช่น การให้คนเข้ามาคอมเมนต์โพสต์ หรือให้เข้ามากดไลค์ จัดรางวัลหาผู้ชนะเลิศ ซึ่งก็เป็นวิธีง่ายๆ ในการสร้างเอนเกจเมนต์ระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค

“อุปสรรคการของการ Boost Post แตกต่างจากในอดีตเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ใช้เงินแค่ 3,000 บาทสามารถเข้าถึงคน 1 แสนราย แต่ในขณะนี้ใช้เงิน 3,000 บาท ความสามารถการเข้าถึงยังไม่ถึงหมื่นรายด้วยซ้ำ อย่างไรก็ดีนอกจากการเข้าถึงที่น้อยลงในขณะนี้แล้ว และแบรนด์ต่างๆ จำเป็นต้องใช้เงินเพื่อสร้างการเข้าถึงคนได้จำนวนมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เม็ดเงินที่ลงทุนไปนั้นเพื่อสร้างการเข้าถึงแล้วคนจะหันมาซื้อสินค้า”กฤตภาส กล่าว

ปัจจุบัน เฟซบุ๊กกลายช่องทางสร้างรายได้ของกลุ่มซีทูซีและบีทูซี ซึ่งพบว่าพฤติกรรมของคนไทยส่วนใหญ่ซื้อสินค้าผ่านทางโซเชียลคอมเมิร์ซ โดยคาดว่าปีนี้ตัวเลขการซื้อ-ขายสินค้าผ่านทางโซเชียลคอมเมิร์ซจะพุ่งจาก 2.7 แสนล้านบาท เพิ่มเป็น 3 แสนล้านบาท หรือเติบโต 30%

นโยบายการปั๊มรายได้ของเฟซบุ๊กที่ต้องการให้แบรนด์ใช้เงิน Boost Post ครั้งนี้ ต้องจับตาดูว่าจะสร้างผลกระทบให้กับธุรกิจซีทูซีหรือไม่ เพราะซีทูซีถือว่าเป็นฟันเฟืองที่สำคัญที่ทำให้คนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีกำลังซื้อที่ดีขึ้น