posttoday

กทท.เปิดประมูลโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังกลางปีหน้า

04 พฤศจิกายน 2560

กทท.เร่งทีโออาร์แหลมฉบัง เตรียมเปิดประมูลโครงการ 3.5 หมื่นล้านภายในกลางปีหน้ารับแผนอีอีซี –สั่งปรับแผนลงทุนท่าเรือกรุงเทพ 5.25 พันล้านบาท

กทท.เร่งทีโออาร์แหลมฉบัง เตรียมเปิดประมูลโครงการ 3.5 หมื่นล้านภายในกลางปีหน้ารับแผนอีอีซี –สั่งปรับแผนลงทุนท่าเรือกรุงเทพ 5.25 พันล้านบาท

เรือตรีทรงธรรม จันทประสิทธิ์ รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ในฐานะรักษาการแทนผู้อำนวยการ กทท. เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท ขณะนี้ กำลังจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(อีเอชไอเอ) โดยล่าสุดผ่านละขั้นตอนการรับฟังความเห็นการทบทวนรายงานหรือ ค.3 (Public Reviewing ) อยู่ระหว่างเสนอที่ประชุมคณะกรรมการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ( สผ.) ควบคู่ไปกับการจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมของร่างเอกสารประกวดราคา(ทีโออาร์) ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด)กทท.ภายในปีนี้ดังนั้นจึงคาดว่าจะได้ข้อสรุปด้านอีเอชไอเอและทีโออาร์ภายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม แหลมฉบังเฟส 3 เป็นหนึ่งในโครงการที่ คณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี)เร่งรัดให้ดำเนินการ ดังนั้น กทท.จะเร่งประกาศเชิญชวนเอกสารและเปิดประมูลโครงการภายใน มิ.ย. 2561 หรือภายในกลางปีหน้า ก่อนดำเนินการลงนามสัญญาในช่วงปลายปีเพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป

เรือตรีทรงธรรมกล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างอาคารบรรจุสินค้าเพื่อการส่งออก พร้อมระบบบริหารจัดการและสิ่งอำนวยความสะดวก (CFS ขาออก) วงเงิน 1.35 พันล้านบาท และโครงการพัฒนาคลังสินค้าท่าเรือกรุงเทพ พร้อมระบบบริหารจัดการอุปกรณ์และเครื่องมือทุนแรง (CFS ขาเข้า) วงเงิน 2.12 พันล้านบาท บริเวณท่าเรือกรุงเทพนั้น ล่าสุดได้ถูกคณะกรรมการบริหารทรัพย์สินสั่งชะลอพร้อมให้ปรับแบบโครงการดังกล่าว เนื่องจากคณะกรรมการมองว่าควรปรับแบบก่อสร้างอาคาร CFS ขาออก ให้เป็นแนวตั้งสูงขึ้นไปเพื่อนำพื้นที่โดยรอบไปพัฒนาเชิงพาณิชย์ เพราะเดิมกทท.ศึกษาแบบก่อสร้างเป็นอาคารแนวราบมีแค่ชั้นเดียว เลยต้องกลับไปศึกษาความเหมาะสมใหม่คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนธ.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม หากตัดสินใจเดินหน้าโครงการดังกล่าวตามแผนเดิมจะสามารถประมูลและลงนามสัญญาโครงการได้ภายใน เม.ย. 2561 แต่ถ้าหากปรับแบบต้องกลับไปแก้ทีโออาร์ซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกนับเดือน ดังนั้น จึงส่งผลให้โครงการ CFS ขาเข้า ต้องชะลอการศึกษาออกไปด้วย

สำหรับโครงการศูนย์บริการแบบครบวงจรท่าเรือกรุงเทพ(One Stop Service) วงเงิน 1.78 พันล้านบาท ที่อยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียดนั้นขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องขนาดการก่อสร้างอาคารเนื่องจากได้มีการเสนอให้ปรับขนาดอาคารให้เล็กลงจากเดิมเพื่อเร่งโครงการให้เปิดบริการได้ในปี 2563 เพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการมากขึ้นอีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายกระทรวงคมนาคมที่ต้องการให้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการงานบริหารและบริการด้านโลจิสติกส์