posttoday

ชลประทานเตรียมรับมือใต้เจอฝนหนัก1-3พ.ย.

01 พฤศจิกายน 2560

กรมชลฯรับมือดีเปรสชั่นลงใต้ นายกฯ เตรียมลงพื้นที่ อ.ปากพนัง ติดตามแผนบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช วงเงิน 9 พันล้านบาท

กรมชลฯรับมือดีเปรสชั่นลงใต้ นายกฯ เตรียมลงพื้นที่ อ.ปากพนัง ติดตามแผนบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช วงเงิน 9 พันล้านบาท 

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยกรณีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือนภาคใต้ 16 จังหวัดมีฝนตกหนัก วันที่ 1-3 พ.ย.จากดีพายุดีเปรสชัน ว่าพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯได้สั่งการให้กรมชลประทาน ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เตรียมมาตรการรับมือปัญหาอุทกภัยและบรรเทาผลกระทบประชาชนให้น้อยที่สุด   นอกจากนั้น  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางลงพื้นที่ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช  ในวันที่ 3พ.ย. ไปตรวจติดตาม สถานการณ์  แก้ไขปัญหาอุทกภัย

"ทั้งนี้กรมชลประทาน ได้มีการโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช วงเงิน 9 พันล้านบาท ที่ผ่านครม.ไปแล้ว ได้เริ่มดำเนินการเพียงบางส่วน มีการขุดลอกคลองท่าดี รับน้ำจากเทือกเขา ในอัตรา 262 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่ขุดคลองเส้นใหม่อ้อมเมือง ระบายน้ำลงทะเล  ในอัตรา 750 ลบ.ม.ต่อวินาที  ยังไม่ได้ทำเพราะติดปัญหาชุมชน  ทำให้ปริมาณน้ำจากเทือกเขาหลวง  ยังเข้าตัวเมืองอยู่ แม้ขุดลอดคลองท่าดี ก็ช่วยได้ไม่มาก  สำหรับแนวพายุนี้เน้นหนัก จ.สงขลา อ.หาดใหญ่  อยู่ระหว่างการก่อสร้างผันน้ำเลี่ยงเมือง คลอง  ร.1  โดยระบบมีความพร้อมในการระบายน้ำ   70-80%"นายสมเกียรติ กล่าว

สำหรับหย่อมความกดอากาศตอนนี้กำลังจะเข้าภาคใต้ พื้นที่น่าเป็นห่วงตั้งแต่ จ.ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์  สงขลา นครศรีธรรมราช ตอนนี้ได้นำเครื่องสูบน้ำ กว่า 300 เครื่องลงไปติดตั้งไว้แล้วประจำจุดเสี่ยงทั้งหมด และพร่องน้ำในเขื่อน มาก่อนล่วงหน้า 2-3 สัปดาห์ ในอ่างที่มีน้ำเกิน 70 -80 %  ซึ่งมีอ่างขนาดกลาง 2แห่งที่ ที่ จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบฯ ได้พร่องน้ำออกแล้ว รวมทั้งลดน้ำในคลองระบายน้ำต่างๆ แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ และจัดทำแผนที่ทางน้ำ ใช้การระบายน้ำ ตรงไหนบ้าง โดยทุกหน่วยงานต้องใช้แผนที่ของกรมชลประทาน  โดยน่าห่วงที่สุด คือ จ.นครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่มีปัญหาน้ำท่วมประจำทุกปี มีปริมาณฝนตก 100-200 มม.ก็เกิดน้ำท่วมเขตเมืองแล้ว การแก้ไขต้องใช้เครื่องสูบน้ำ เร่งระบายน้ำออกทะเล

นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารผู้จัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวว่าสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้ปรับลดการระบายที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา และการรับน้ำของฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก โดยมีการปรับลดการระบายน้ำภาพรวม 300 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2560 จนถึงปัจจุบัน ลดลงไปแล้ว 150 ลูกบาศก์เมตร/วินาที  ส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาตั้งแต่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เริ่มลดลงประมาณ 15-20 ซม.   เนื่องจากปริมาณน้ำที่ผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาได้ลดลงตามลำดับ

รวมทั้งได้มีการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่บริเวณปากแม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย สำหรับแผนการระบายน้ำออกจากทุ่ง กรมชลประทานได้เริ่มระบายน้ำออกจากทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2560 จะเริ่มระบายน้ำอีก 12 ทุ่งตอนล่าง ตั้งแต่วันที่ 15  พ.ย. 2560 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม น้ำที่จะระบายออกจะต้องผ่านระบบของชลประทานก่อนแล้วจึงกระจายออกไปทางฝั่งซ้ายและขวา ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยอยู่เดิมที่มีน้ำล้นตลิ่งนอกคันกั้นน้ำ

ทั้งนี้ได้เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัยทางภาคใต้นั้น ขณะนี้กรมชลประทานได้ย้ายเครื่องจักรเครื่องมือไปประจำไว้ที่ศูนย์พื้นที่ทางภาคใต้แล้ว อาทิ เครื่องสูบน้ำ จำนวน 380 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 180 เครื่อง และเครื่องมืออื่นๆ ที่ใช้สนับสนุนภารกิจ รวมทั้งได้ควบคุมน้ำในอ่างเก็บน้ำ ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และพร่องน้ำเตรียมไว้แล้ว พร้อมทั้งมีการสร้างการรับรู้และความเข้าใจไปยังจังหวัด กระทรวงมหาดไทย และประชุมร่วมกับชลประทานเขต กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้รับทราบถึงสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ตลอดทั้งการดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน