posttoday

Future of Uber โฉมหน้าใหม่ของการคมนาคมทั่วโลก

21 ตุลาคม 2560

ระหว่างที่นั่งรอคิวเรียกแท็กซี่อีกเกือบ 60 คิวที่สนามบินดอนเมือง ผมนั่งคิดอยู่ในใจว่า

โดย โสภณ ศุภมั่งมี ภาพ : รอยเตอร์ส

 ระหว่างที่นั่งรอคิวเรียกแท็กซี่อีกเกือบ 60 คิวที่สนามบินดอนเมือง ผมนั่งคิดอยู่ในใจว่า

  “เฮ้ย ลองเรียกอูเบอร์ดู ดีไหมวะ?”

 แล้วหลังจากนั้นก็หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาโหลดแอพในมือถือ แล้วค้นหาปลายทางที่อยากไป ซึ่งน่าเสียดายที่ผมไม่ค่อยคล่องเส้นทางที่ต้องไปสักเท่าไร ผลลัพธ์ที่ค้นพบดันไม่ตรงกับที่ได้รับมาจากคนที่นัดพบ

 สุดท้ายเลยถอดใจไว้คราวหน้ามีโอกาสเหมาะเจาะเส้นทางชัดเจนกว่านี้ค่อยลองใหม่ละกัน

 หลังจากรอประมาณ 20 นาที ผมขึ้นมานั่งเบาะหลังของรถแท็กซี่สีเหลืองเขียวที่คุ้นเคย คำถามแรกที่ผมถามคุณลุงแท็กซี่ (ที่ดูแล้วค่อนข้างไฮเทคพอสมควร มีโทรศัพท์มือถือเสียบไว้ตรงหน้าปัดเพื่อเป็นแผนที่ สายเฮดโฟนระโยงห้อยลงมาจากม่านบังแดด วอคกี้ทอกกี้อยู่ข้างๆ พวงมาลัยนี้ ดูไปดูมาเหมือนเป็นศูนย์บัญชาการในหนังไซ-ไฟเกรดบีได้เหมือนกันนะ)

โสภณ : “พี่รู้จักอูเบอร์ไหมครับ?”

ลุงคนขับ (มองลอดแว่นตาดำ มองหน้าผมผ่านส่องกระจกมองหลัง) : มีใครไม่รู้จักมั่งล่ะ?

โสภณ : “มันกระทบกับลูกค้าไหม? หมายถึงว่าลูกค้าพี่ลดลงไหม?”

ลุงคนขับ (กระแอมไอในลำคอ) : “แฮ่ม...ก็นิดหน่อย”

โสภณ : “มันก็สะดวกดีใช่ไหมครับ? อยู่ไหนก็เรียกได้”

ลุงคนขับ : “แท็กซี่ก็เรียกได้นี่ มีทุกที่”

โสภณ : “แต่บางทีก็ไม่ไปนี่ครับ...” (พูดไม่กลัวโดนลากไปปาดคอเลยนะมึง)

ลุงคนขับ : “...” (ตาขวางลอดแว่นตาดำ)

โสภณ : “แต่เห็นว่าตำรวจจับอูเบอร์นี่ครับ?”

ลุงคนขับ : “เอารถส่วนตัวมาขับส่งคนนั้นคนนี้ ก็ผิดกฎหมาย ถูกจับก็ถูกแล้วนี่”

โสภณ : “แบบนี้ไม่เป็นการตัดทางเลือกของผู้โดยสารเหรอครับ?” (ไอ้นี่วอนโดนตีนซะเหลือเกิน)

ลุงคนขับ “...”

โสภณ : “...”

ไม่มีบทสนทนาระหว่างผมกับลุงต่อจนถึงปลายทาง ผมหยิบเงินค่าโดยสารบวกอีกห้าสิบบาท ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมแท็กซี่สนามบินยื่นให้แล้วลงจากรถเพื่อไปทำธุระ ผมบอกขอบคุณแต่ลุงคงโมโหอยู่ เพราะแม้แต่หน้าผมลุงยังไม่หันมามองเลย

เย็นวันนั้นประมาณ 6 โมง หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจทุกอย่าง ผมเริ่มโบกแท็กซี่ตรงจุดที่ผมลงเมื่อตอนบ่าย ซึ่งเป็นกลางซอยรัชดา 3 เพื่อกลับไปยังสนามบินดอนเมือง รถแท็กซี่คันแรกปฏิเสธบอกว่าต้องไปส่งรถ... ไปไม่ทัน ผมก็ค่อยๆ เดินย้อนกลับออกมาเรื่อยๆ เพื่อมาเรียกแท็กซี่บริเวณปากซอย ระหว่างนั้นก็โดนปฏิเสธด้วยเหตุผลเดียวกันอีกสองครั้ง เดินมาถึงปากซอย

ในที่สุดคันที่สี่ผ่านมา เสือกโดนคนอื่นโบกปาดหน้าไปอีกหนึ่ง และมาประสบความสำเร็จในคันที่ห้าที่ตอบรับว่า “ไปก็ไป”

โชคดีครับที่เย็นวันนั้นรถไม่ติดมากเท่าไร ไม่งั้นมีสิทธิตกเครื่องไฟลต์สองทุ่มครึ่งได้ง่ายๆ ระหว่างทางผมเริ่มคิดถึงเรื่องอูเบอร์อีกครั้งหนึ่ง

 “นี่ผมต้องเหนื่อยขนาดนี้เลยเหรอในการเรียกแท็กซี่”

 “ทำไมต้องรู้สึกว่าเป็นหนี้บุญคุญเวลาเรียกแท็กซี่แล้วเขาไปส่งเรา?”

 “ทำไมระบบแท็กซี่ถึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงสักที ทั้งๆ ที่มีการบ่นด่ากันอยู่ตลอดเวลา?”

 “คราวหน้าลองใช้อูเบอร์ดีกว่า”

ไม่แปลกใจที่ธุรกิจการบริการคมนาคมชนิดนี้ (และอีกหลายๆ เจ้าอย่างแกร็บแท็กซี่ แกร็บไบค์ ฯลฯ) กำลังกลายเป็นทางเลือกที่หลายๆ คนตัดสินใจใช้แทนผู้ให้บริการเจ้าของตลาดแบบเก่าๆ (อย่างแท็กซี่ในกรุงเทพฯ หรือรถแดงในเชียงใหม่) เพราะรู้สึก “เหลืออด” และ “มันคงไม่แย่ไปกว่านี้”

ถึงแม้ว่าตอนนี้กฎหมายของประเทศไทยยังไม่เอื้ออำนวยต่อบริการของอูเบอร์ แถมยังออกแนวคัดค้านและต่อต้านด้วยการ “ล่อจับ” คนขับอูเบอร์ ด้วยเหตุผลเหมือนที่ลุงคนขับบอกว่ารถส่วนตัวไม่ควรเอามาใช้เป็นรถสาธารณะ ถ้าเกิดมีอุบัติเหตุอะไรขึ้นมาผู้โดยสารก็จะไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย (ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจนะว่าแท็กซี่คุ้มครองผู้โดยสารและปลอดภัยกว่ายังไง?) และรัฐบาลกำลังจะใช้ไม้เท้าวิเศษเสกมนต์ “มาตรา 44” เพื่อปิดการใช้แอพอูเบอร์บนมือถือในประเทศไทยอีกด้วย

กระแสต่อต้านอูเบอร์ไม่ได้เกิดขึ้นที่ประเทศไทยเพียงที่เดียว ในหลายประเทศอย่างอินเดีย เกาหลีใต้ สเปน เยอรมนี ก็มีการแบนการให้บริการของอูเบอร์เช่นเดียวกัน เหตุผลด้วยเรื่องของความปลอดภัยของผู้โดยสาร เพราะกฎหมายการทำใบขับขี่รถสาธารณะกับรถส่วนตัวที่แตกต่างกัน และอูเบอร์เองก็ไม่ได้มีกฎเคร่งครัดสำหรับผู้สมัครที่ต้องการให้บริการว่าต้องมีใบขับขี่แบบไหน แถมยังไม่พอในประเทศอินเดียยังมีข่าวอันน่าเศร้าที่คนขับรถอูเบอร์นั้นถูกจับข้อหาข่มขืนผู้โดยสารเมื่อปีที่แล้ว

 แต่ก็นั่นล่ะครับ...ไม่มีเหรอข่าวแท็กซี่ข่มขืนปล้นทรัพย์ หรือแม้แต่ทำร้ายจนถึงแก่ชีวิต? แล้วแท็กซี่ปลอดภัยกว่าจริงเหรอ? ในความเห็นของผม... มันไม่ต่างกันเลย

ในปัจจุบันอูเบอร์กำลังทุ่มเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเพื่อพัฒนาบริการรถอูเบอร์ที่ไร้คนขับ มันเป็นเทคโนโลยีที่กำลังถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก เพราะแม้แต่กูเกิลหรือแอปเปิ้ลก็ต่างมุ่งพัฒนารภยนต์ไร้คนขับสำหรับการให้บริการแบบ ​Ride-sharing เช่นเดียวกัน

 ถึงแม้ว่ามันยังไม่ใช่อนาคตอันใกล้นี้ ที่เราจะเห็นรถแท็กซี่แบบไร้คนขับที่สมบูรณ์แบบ (ราคาประหยัด ปลอดภัย และสะดวกสบาย) แต่แน่นอนว่ามันเป็นอนาคตที่ต้องเกิดขึ้นแน่ๆ แค่เมื่อไหร่เท่านั้น

 ตอนนี้การแบนแอพอูเบอร์บนมือถือหรือล่อจับคนขับเหล่านี้ ในมุมมองของผู้บริโภคชาวไทยมันเป็นการปิดกั้นทางเลือกอย่างไม่เป็นธรรม แต่ถ้ามองจากทางฝั่งผู้ให้บริการผู้ครองตลาดก็คงโล่งใจว่าอย่างน้อยๆ ตอนนี้ก็ยังคงทำงานเหมือนเดิมกันได้ต่อไป แต่ถ้าตัวเองไม่มีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง พวกเขาจะทำได้อีกนานแค่ไหนกัน?