posttoday

เอ-โกะสู้ศึกวันไพรซ์ ส่งโกลด์ท้าชิงไดโซ

21 ตุลาคม 2560

ธุรกิจร้านขายสินค้าราคาเดียวทั้งร้านหรือร้านวันไพรซ์ทั้งสัญชาติญี่ปุ่น เกาหลี และจีน ต่างตบเท้าเข้ามาเปิดตลาดในไทยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในปีนี้

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย

ธุรกิจร้านขายสินค้าราคาเดียวทั้งร้านหรือร้านวันไพรซ์ทั้งสัญชาติญี่ปุ่น เกาหลี และจีน ต่างตบเท้าเข้ามาเปิดตลาดในไทยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในปีนี้ โดยจำหน่ายสินค้าในราคาเริ่มต้นเพียง 60 บาท ซึ่งเข้ามาช่วงชิงฐานลูกค้า ทุกอย่าง 20 บาทของคนไทย เอ-โกะ จึงเดินหน้าปรับตัวผุดแฟรนไชส์พรีเมียม "เอ-โกะ โกลด์" ขึ้นไปสู้กับต่างชาติ

สุพจน์ เลาหพัฒนวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอกดำรงค์ มาร์เก็ตติ้ง ผู้ดำเนินธุรกิจค้าส่งและร้านจำหน่ายสินค้าเอ-โกะ เปิดเผยว่า บริษัทวางแผนเปิดร้านเอ-โกะ โกลด์ ซึ่งเป็นร้านค้าจำหน่ายสินค้าพรีเมียมทุกอย่าง 60 บาทขึ้นไป ในช่วงไตรมาส 3 ของปีหน้า เพื่อขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่มตลาดกลาง-บน จากที่ผ่านมาเอ-โกะขายสินค้าทุกอย่าง 20 บาทเจาะกลุ่มระดับล่าง

ทั้งนี้ การแตกแฟรนไชส์เป็น 2 รูปแบบ เพราะพฤติกรรมของลูกค้า ที่เข้าร้านค้า 20 บาท ส่วนใหญ่กำลังซื้อน้อย เป็นสาวโรงงาน ขณะที่ลูกค้ากลุ่มกลาง-บนจะซื้อสินค้า 60 บาทมากกว่า จึงเห็นว่าเป็นโอกาสของการทำตลาด ส่วนรายการสินค้าของเอ-โกะในขณะนี้มี 3 หมื่นรายการหมุนเวียนไปกัน อาทิ ของใช้ในชีวิตประจำวัน ของเล่นเด็ก และสกินแคร์

อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างภาพลักษณ์ร้านค้า "เอ-โกะ โกลด์" บริษัทจะนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นเข้ามาเสริมแฟรนไชส์ดังกล่าวจากสัดส่วน 40% เพิ่มเป็น 60% รวมทั้งนำเข้าจากประเทศอื่นๆ ทั้งเกาหลีและจีน เพื่อเจาะกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่น ซึ่งบริษัทมีซัพพลายเออร์จากประเทศญี่ปุ่นสามารถนำเข้าสินค้าได้ราคาถูกและแข่งขันกับรายใหญ่ได้

ขณะที่ภาพรวมการแข่งขันร้านค้าราคาเดียวหรือวันไพรซ์มีความรุนแรง โดยเฉพาะร้านค้า 60 บาทจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีทั้งไดโซที่เป็นผู้เล่นเดิมอยู่ในตลาดและรายใหม่ๆ อาทิ แคน ดู (Can Do) ร้านเนะโอะ มินิโซ จากจีน ซึ่งส่วนใหญ่จะขายสินค้าไลฟ์สไตล์หลากหลายรายการ โดยปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจร้านวันไพรซ์เป็นที่นิยม มาจากคนไทยเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้น และมีความชื่นชอบสินค้า ญี่ปุ่น เกาหลี

นอกจากนี้ จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว กำลังการซื้อที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงมองหาสินค้าที่มีความคุ้มค่าคุ้มราคา ประกอบกับโลกก้าวเข้าสู่ ดิจิทัล เทคโนโลยีที่เข้ามาอย่างรวดเร็วและมีผลต่อไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ส่งผลให้เทรนด์แฟชั่นมาไวและไปไวด้วยเช่นเดียวกัน พฤติกรรมการซื้อสินค้าจึงเปลี่ยนเร็ว ทัศนคติเปลี่ยน หันมาซื้อสินค้าราคาไม่สูง การตัดสินใจซื้อสินค้าก็ง่าย ใช้แล้วก็เปลี่ยนใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง

สุพจน์ กล่าวว่า แผนการขยายสาขาเอ-โกะ ทั้งปีคาดว่าจะมีแฟรนไชส์เพิ่มเป็น 1,500 สาขา ส่วนปีหน้าจะขยายเพิ่มอีก 100 สาขา จุดเด่นของเอ-โกะ เป็นแฟรนไชส์ที่ผู้ซื้อไม่ต้องซื้อแฟรนไชส์ เพียงแต่ซื้อสินค้าของเอ-โกะไปจำหน่ายเท่านั้น ส่งผลให้จำนวนสาขาแฟรนไชส์ขยายอย่างรวดเร็ว สำหรับรายได้ของบริษัททั้งปี 200 ล้านบาท หรือเติบโต 25-30% จากรายได้ในช่วง 8 เดือน ที่ผ่านมากกว่า 100 ล้านบาท

ด้านไดโซ ปัจจุบันมีสินค้าอยู่กว่า 5 หมื่นรายการ นำเข้าจากญี่ปุ่นและจีน ขณะเดียวกันยังมีสินค้าของไทยในเครือสหพัฒน์เข้าไปจำหน่ายบ้างเล็กน้อย ซึ่งจุดแข็งของไดโซ เป็นแบรนด์ที่มีคนไทยรู้จัก และนำเสนอสินค้าที่มี นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง อาทิ แคปซูลผ้าเช็ดตัวหรือมาสก์หน้าที่เหมาะกับการพกพา และเร็วๆ นี้กำลังเพิ่มรายการสินค้ากลุ่มอาหารเสริมและสกินแคร์ โดยมีสาขากว่า 150 สาขา

สำหรับแผนของร้านมินิโซ ภายใน 2 ปี จะเร่งขยายให้ครบ 100 สาขา มีสินค้าทั้งสิ้น 2,500 รายการ ครอบคลุมทั้งกลุ่มความงาม ไอที ของใช้ในบ้าน อาหารและอื่นๆ เน้นจุดขายวันสต็อปช็อปปิ้ง ซึ่งมีแนวโน้มว่ามินิโซจะกลายมาเป็นคู่แข่งที่สำคัญอีกหนึ่งรายใน ไทย แม้ว่าจะเป็นสินค้าจากจีนแต่เน้นออกแบบสไตล์ญี่ปุ่น ราคาเริ่มต้น 60 บาท แต่ภายในร้านมีสินค้าราคามากกว่า 60 บาทจำหน่ายด้วย เช่น เครื่อง นวดหน้า ดึงคนระดับกลางมาซื้อสินค้าได้พอสมควร

จากภาพรวมทั้งหมดจะเห็นว่า ปีหน้าร้านสินค้าราคาเดียวคงเริ่มขยายช่องทางออนไลน์ "ไดโซ" และ "เอ-โกะ" กำลังอยู่ระหว่างพัฒนาเว็บไซต์ให้ ภาพลักษณ์ทันสมัย แข่งบริหารมาร์จิ้น เพราะข้อจำกัดราคาขายที่ไม่สูง ส่วนออฟไลน์คงอยู่ที่การแข่งขันพัฒนาสินค้าใหม่ ถูกและโดนใจนักช็อปนั่นเอง