posttoday

โลกอ้าแขนรับฟินเทค ปรับสู่ผู้นำสร้างนวัตกรรม

30 กันยายน 2560

เมื่อผู้ให้บริการระบบชำระเงินระดับโลกมีความท้าทายจากกระแสฟินเทค

โดย ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

เมื่อผู้ให้บริการระบบชำระเงินระดับโลกมีความท้าทายจากกระแสฟินเทค และแนวโน้มสังคมไร้เงินสด ในหลายประเทศหนีไม่พ้นที่ต้องเปลี่ยนจากผู้ให้บริการเป็นผู้พัฒนา เพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการชำระเงิน โดยศูนย์กลางของการพัฒนานวัตกรรมการเงินในเอเชียแปซิฟิกอยู่ที่ สิงคโปร์

เริ่มที่ มาสเตอร์การ์ด ได้คิดค้นการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ที่ศูนย์แสดงนวัตกรรมและมาสเตอร์การ์ดแล็บ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี 3 ด้าน ได้แก่ การสื่อสารกับดีไวซ์ (Conversation System) อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (IoT) และเทคโนโลยีเพื่อร้านค้า (Merchant Experience) นวัตกรรมเด่นที่จัดแสดงที่สิงคโปร์ ประกอบด้วย

เปปเปอร์ (Pepper) เป็นหุ่นยนต์เสมือนมนุษย์ตัวแรกที่รับรู้อารมณ์ของมนุษย์ได้ มีแอพพลิเคชั่นที่เชื่อมโยงข้อมูลร้านค้า ส่วนลูกค้าเชื่อมต่อบัญชีมาสเตอร์พาสผ่านอีวอลเล็ตหรือคิวอาร์โค้ด เปปเปอร์ก็พูดคุยให้คำแนะนำและสั่งซื้อสินค้าได้

ควิกเกอร์ (Qkr) โซลูชั่นเพื่อร้านค้าที่ลดขั้นตอนการรับออร์เดอร์จาก 11 นาที เหลือ 1 นาที เพราะผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อได้ด้วยตัวเอง อีกทั้งยังปรับใช้กับตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Qkr Vending) ที่ใช้เทคโนโลยีชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด ไม่ต้องใช้เหรียญ

แอพพลิเคชั่นยืนยันตัวตนผ่านมือถือ (ID Check Mobile) ด้วยถ่ายรูปหรือ Facial Biometrics จาก 3 หมื่นจุดบนใบหน้า ไม่ต้องใช้พินหรือสแกนนิ้วมือ เพราะมือถือบางรุ่นก็ไม่มีโปรแกรมสแกนนิ้ว

"พัฒนาการชำระเงินของไทยไปเร็วมาก เมื่อ 4-5 เดือนที่แล้ว เพิ่งเดินทางไปคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับมาตรฐานคิวอาร์โค้ด แต่ขณะนี้ไทยเตรียมใช้คิวอาร์โค้ดที่เป็นมาตรฐานเป็นประเทศแรกในภูมิภาค ขณะที่สิงคโปร์ยังช้ากว่า" เดวิด ชาน Senior Vice President ด้านพัฒนาตลาด มาสเตอร์การ์ดประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

ด้าน วีซ่า ได้ตั้งศูนย์นวัตกรรมที่สิงคโปร์ เป็นสถานที่ที่ร่วมกับพาร์ตเนอร์มาพัฒนานวัตกรรมใหม่ด้วยกัน ซึ่งวีซ่าได้เปิดระบบเป็น Open API ให้ผู้เล่นทั่วโลกเข้ามาพัฒนาร่วมกัน ภายใต้ 3D Discover Design Develop แบ่งทีมผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี การตลาด และประสบการณ์ลูกค้า มาร่วมกันทำงาน

อาเช็ค หัวหน้าอินโนเวชั่นของวีซ่า เล่าว่า ตอนอินเดียประกาศเลิกใช้ธนบัตรใบละ 500 และ 1,000 รูปี วีซ่าส่ง ทีมไปศึกษาพฤติกรรม จากนั้นก็เริ่มดีไซน์หาโซลูชั่น ซึ่งพบว่า เอ็มวีซ่า คิวอาร์โค้ด ตอบโจทย์การชำระเงินที่อินเดีย

นวัตกรรมใหม่ที่กำลังพัฒนาในศูนย์นวัตกรรม อาทิ การเปิดวอลเล็ตเองผ่านแอพพลิเคชั่น การชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดให้รถตุ๊กตุ๊ก แพลตฟอร์ม ร้านค้าออนไลน์บนเฟซบุ๊ก แพลตฟอร์มร้านค้าที่มีหน้าร้าน และ IoT ในยานยนต์ ซึ่งเป็นเป้าหมายของ วีซ่า ที่ต้องการเป็นแพลตฟอร์ม (Visa as a Platform) อย่างแท้จริง

ด้าน ไอบีเอ็ม ยาเชส กัมพานี หัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านบริการทางการเงินประจำอาเซียน กล่าวว่า ไอบีเอ็มที่เคยถูกมองเป็นผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ คอมพิวเตอร์ หรือโน้ตบุ๊ก ได้ทรานส์ฟอร์มจากภายใน พร้อมตั้งไอบีเอ็ม สตูดิโอ ที่สิงคโปร์ เป็นศูนย์กลางทำงานร่วมกับบริษัทและสตาร์ทอัพ บนพื้นฐานของเทคโนโลยี ค็อกนิทีฟ บล็อกเชน และแนวคิดการออกแบบ (Design Thinking)

บล็อกเชน เป็นเทคโนโลยีที่ไอบีเอ็มมองว่าจะเปลี่ยนโลก เพราะเป็นแหล่งข้อมูลความจริงหนึ่งเดียวของการทำธุรกรรมหรือเอกสาร ที่ตรวจสอบย้อนหลังได้เสมอ โดยไอบีเอ็มได้ร่วมกับหลายองค์กรนำบล็อกเชนไปใช้ อาทิ ร่วมกับ Maersk ทำแพลตฟอร์มบล็อกเชนเชื่อมต่อซัพพลายเชนโลจิสติกส์ทั่วโลก

แม้แต่บริษัทระดับโลกทั้ง 3 รายยังตื่นตัว หลังมองเห็นถึงพฤติกรรม ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป จากเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว แต่พลวัตการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้น่ากลัวเท่ากับที่เปลี่ยนตัวเองได้ทันหรือไม่