posttoday

ใครควรจะอยู่ ใครน่าจะไป (2)

24 กันยายน 2560

และแล้วสิ่งที่เราคาดการณ์ไว้ก็มาถึงเร็วกว่ากำหนด (ต่อจากบทความก่อน)...

โดย ดร.เพียงออ เลาหะวิไลย[email protected]

และแล้วสิ่งที่เราคาดการณ์ไว้ก็มาถึงเร็วกว่ากำหนด (ต่อจากบทความก่อน)...

องค์กรแรงงานโลก บอกว่า ในอนาคตแรงงานประเทศอาเซียนจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะตกงานกันเป็นเบือ เพราะการมาของเทคโนโลยีใหม่ 3 อย่าง คือ Robotic (หุ่นยนต์ผลิตแทนคน) Automation (ระบบอัตโนมัติในการผลิต) และ 3D printing (การพิมพ์แบบ 3 มิติ ที่ทำสำเนาผลิตของออกมาเป็นชิ้นๆ ได้เลย)... วันนั้นมาถึงแล้วค่ะ ณ โรงงานแห่งหนึ่งในไทย ที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตสินค้าระดับสูงที่อยู่เหนือขีดความสามารถทางสายตาหรือการหยิบจับของมนุษย์จะจัดการได้ เช่น การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่บรรจุวงจรขนาดเล็กมากเท่ากับปลายปากกา 0.7 มิลลิเมตร ไว้ภายในเท่านั้น!

เป็นเครื่องจักรที่มีความฉลาดล้ำ เป็น "ปัญญาประดิษฐ์" (Artificial Intelligence) ของจริงเพิ่งประกอบเสร็จใหม่ๆ ส่งตรงมาจากเกาหลี 2 สัปดาห์ก่อน ในโรงงานซึ่งเป็น ที่ทำงานเดิมและปัจจุบันนี้ "เชกา" ก็ยังไปให้คำปรึกษาอยู่ค่ะ โรงงานทดลองสั่งประกอบเอา มาใช้ 1 เครื่อง ในราคาเครื่องละ 3.5 ล้านบาท แต่สามารถทำงานแทนพนักงานตรวจสอบคุณภาพสินค้าได้ถึง 15 คน!

ด้วยความที่ต้องการประเมินสถานภาพของพนักงาน 15 คน ที่ถือว่าเป็นสหายเก่า จึงได้ไปคุยกับกลุ่มวิศวกรเกาหลีที่เข้ามาติดตั้งเครื่อง ว่ามันทำงานอย่างไร เลยได้รู้ว่า ยุคแห่งปัญญาประดิษฐ์มาเคาะประตูรออยู่ที่หน้าบ้านเราแล้ว... เครื่องตรวจสอบนี้มีกลไกการทำงานโดยเริ่มต้นจากการสร้างความรู้ที่ป้อนเข้าไปว่า อะไรคือถูก อะไรคือผิด ป้อนต้นแบบลักษณะสินค้าที่เป็นของดีเข้าไป และวิศวกรซอฟต์แวร์จะกำหนดพื้นที่จุดต่างๆ ของชิ้นงานด้วยโปรแกรมควบคุมการมองเห็น (Vision) ของเครื่อง ออกมาเป็นภาพ (Image) ว่าแต่ละส่วนมีสีสันอย่างไร สว่างมืดอยู่ระหว่างเท่าไร ขนาดขอบเขตเท่าไร สินค้าทุกชิ้นที่วิ่งตามรางผ่านเข้ามาในจอภาพจะได้รับการประมวลผลตามสเปก...ชิ้นที่มีภาพนอกเหนือจากคุณสมบัติที่กำหนดไว้จะถูกบันทึกลงฐานข้อมูลและทำเครื่องหมายไว้ว่าเป็นของเสีย เพื่อคนจะได้กลับมากำจัดมันทิ้งไป...

โดยภาพรวม หากใช้มนุษย์ในการตรวจสอบ มนุษย์ก็ต้องเปรียบเทียบสิ่งที่สายตาตนเองเห็นและประมวลผลในสมอง เปรียบเทียบกับภาพและสิ่งที่ตนเองรู้อยู่ก่อน ว่าของชิ้นนั้นดีหรือเสีย มนุษย์ทำได้อย่างไร เครื่องจักรก็ทำได้อย่างนั้น นอกจากนี้เครื่องยังสามารถส่งข้อมูลต่อเข้าระบบการผลิตที่เชื่อมโยงถึงกัน เมื่อใดที่ตรวจพบของเสียมากกว่ามาตรฐานที่ตั้งไว้ เครื่องจักรสมองกลจะสั่งการไปยังเครื่องจักรที่อยู่ก่อนหน้าให้หยุดการผลิตทันทีก่อนที่จะเสียหายไปมากกว่านี้...คนที่เคยทำงานตรงนี้ไม่ต้องคิดประเมินสถานการณ์ให้ยุ่งยากอีก ต่อไป เหลือภารกิจเพียงแค่วิ่งมาดูเครื่องจักรที่หยุดแล้วเท่านั้นเองค่ะ

เครื่องจักรตัวนี้บริษัทเกาหลีที่อยู่ในโซนเทคโนโลยีในเมืองแดจอนเป็นผู้รับจ้างผลิต บริษัทนี้มีผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิทยาศาสตร์ ชั้นสูงแห่งเกาหลี (Korea Advanced Institute of Science and Technology หรือ KAIST) มาเป็นที่ปรึกษา... KAIST เป็นสถาบันอุดม ศึกษาเดียวของเกาหลีที่ดูแลโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแทนที่จะเป็น กระทรวงศึกษาธิการ มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิต นักวิทยาศาสตร์และวิศวกร ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี-โท-เอก ที่มีความสามารถสูงให้กับองค์กรต่างๆ ในเกาหลี

การสร้างเครื่องจักรไม่ได้ใช้เวลานานเลยค่ะ ใช้เวลาประกอบแค่ 2 เดือนครึ่ง ก็สร้างเสร็จ แต่ก่อนหน้านั้นต้องใช้เวลาในการประชุมสรุปความต้องการของลูกค้า 4 เดือนกว่า ถึงจะได้ข้อสรุปในการออกแบบฟังก์ชั่นการทำงานที่ถูกต้องตรงกับความต้องการของผู้ว่าจ้างได้...งานนี้ มองเห็นผลกระทบในวงกว้างของจริง เพราะนอกจากจะลดคนได้ทันที 15 คน/เครื่อง หากติดตั้งทุกสายการผลิต 5 เครื่อง ก็จบเลย คนจะหายไป 75 คนทันที ยังมีระยะเวลาคืนทุนเพียงแค่ 12 เดือนเศษๆ เท่านั้น!

ในแง่คุณภาพ เครื่องจักรยังทำงานได้ถูกต้องแม่นยำถึง 100% ในขณะที่หากใช้คนตรวจสอบกลับมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากสินค้าที่ต้องตรวจมีขนาดเล็กมาก ต้องใช้แว่นขยายขนาด 10 เท่า สายตาคนจึงจะพอมองเห็นได้ ที่ผ่านมาคนของเราตรวจสินค้าของเสียผ่านออกไปเยอะ จนทำให้ประธานบริษัทต้องบินด่วนไปเกาหลี เพื่อเข้าชี้แจงข้อผิดพลาดกับผู้บริหารของซัมซองที่เป็นลูกค้า จึงทำให้บริษัทต้องตัดสินใจใช้เครื่องจักรแทนคน ปัจจุบันก็แก่ๆ กันแล้ว นั่งทำงานตรวจคุณภาพสินค้ามานานเกือบจะ 20 กว่าปี เกือบจะเท่าอายุของบริษัท ความสามารถทางร่างกายและสายตาก็ถดถอยลงไปเยอะ เรียกว่า Physical Deterioration ที่มาในรูปของหู ตา และความว่องไวเสื่อมถอยตามอายุและการใช้งาน...

นี่ละค่ะ จึงกลายเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข หากสร้างลักษณะงานใหม่ขึ้นมาไม่ได้ก็ต้องมีการคัดสรรคนที่จะ "เชิญให้กลับไปพักผ่อนที่บ้านพร้อมกับเงินจูงใจติดกระเป๋าไปเริ่มต้น ชีวิตใหม่"...ตอนนี้เทคโนโลยีกระทบชีวิตมนุษย์เกือบทั้งหมดในบริษัทที่ใช้เครื่องจักรเป็น Capital หลักในการสร้างรายได้ ที่เชื่อกันว่าบรรษัทต่างชาติย้ายฐานการผลิตไปหาประเทศที่ต้นทุนแรงงานที่ถูกลงนั้น เป็นส่วนหนึ่งซึ่งเกิดกับโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตระดับต่ำ และระดับกลาง แต่บรรษัทที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตระดับสูงที่ยังเลือกเมืองไทยอยู่ ก็นำ ระบบอัตโนมัติต่างๆ มาใช้ทดแทนคน... ผลคือ คนก็ยังตกงานอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม เมื่อบริษัทนำเครื่องจักรเข้ามาแทนที่ หรือใช้ทางเลือกอื่นหากยังไม่สามารถหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมได้ เช่น การผลัดเปลี่ยนคนที่ความสามารถลดลงด้วยอายุที่สูงวัยขึ้น แล้วรับพนักงานหนุ่มสาวเข้ามาใหม่ จะได้ลดอายุขององค์กรให้เด็กลงด้วย ได้ความสด ไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ๆ ด้วย ...แต่บริษัทยังต้องรักษาคนที่เป็นหัวกะทิอยู่ทำงานต่อ เพื่อป้องกันความเสี่ยงและความสูญเสียด้านคุณภาพและบริการ แล้ว "ใครควรจะอยู่ ใครควรจะไป"...คำถามนี้ ฝ่าย HR สรุปกันมาตามหลักปฏิบัติทั่วไปว่า "ใช้ผลการทำงานเป็นตัวชี้วัดสิ" แล้วหากคนเหล่านี้เป็นกลุ่ม Expert ที่มีประสบการณ์นานกว่า 20 ปี จะวัดกันยังไงล่ะ... คิดให้ถี่ถ้วนจริงจังในเชิงการบริหารสินทรัพย์ (Asset Management) มันไม่ง่ายอย่างนั้นหรอกค่ะ...