posttoday

โพลเผยคนรับรู้ข้อมูลบัตรสวัสดิการรัฐ แต่ยังไม่แน่ใจรายละเอียด

10 กันยายน 2560

นิด้าโพลเผยคนรับรู้ข้อมูลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ยังไม่แน่ใจในรายละเอียด พบ 67.27% ไปลงทะเบียน

นิด้าโพลเผยคนรับรู้ข้อมูลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ยังไม่แน่ใจในรายละเอียด พบ 67.27% ไปลงทะเบียน

เมื่อวันที่ 10 ก.ย. กรมประชาสัมพันธ์ ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรผู้มีรายได้น้อย)” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 2-7 กันยายน 2560 โดยสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,053 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับมาตรการประชารัฐสวัสดิการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้กับผู้ที่มาลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยให้ได้รับความช่วยเหลือเบื้องต้น เพื่อลดภาระค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและค่าเดินทาง ซึ่งจะเริ่มใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป

จากการสำรวจเมื่อถามถึงการรับรู้หรือได้ยินข่าวสารของประชาชนเกี่ยวกับ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” (บัตรผู้มีรายได้น้อย) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.32 ระบุว่า เคยรับรู้หรือได้ยินข้อมูล รองลงมา ร้อยละ 30.44 ระบุว่า เคยรับรู้หรือเคยได้ยินข้อมูลมาบ้าง และร้อยละ 17.24 ไม่เคยรับรู้หรือไม่เคยได้ยินข้อมูลเลย

ต่อมาเมื่อถามถึงช่องทางการรับรู้หรือได้ยินข่าวสารของประชาชนเกี่ยวกับ“บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” (บัตรผู้มีรายได้น้อย) ของตัวอย่างที่ระบุว่าเคยรับรู้หรือได้ยินข่าวสารของประชาชนเกี่ยวกับ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” (บัตรผู้มีรายได้น้อย) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 67.39 ระบุว่า รับรู้หรือได้ยินข่าวสารผ่านสื่อโทรทัศน์ รองลงมา ร้อยละ 35.73 ระบุว่า สื่อบุคคล ร้อยละ 6.65 ระบุว่า สื่อวิทยุ ร้อยละ 4.89 ระบุว่า สื่อหนังสือพิมพ์ ร้อยละ 4.83 ระบุว่า สื่อแอปพลิเคชัน Facebook ร้อยละ 1.06 ระบุว่า สื่อป้ายประกาศ ร้อยละ 0.94 ระบุว่า สื่อแอปพลิเคชัน Line ร้อยละ 0.53 ระบุว่า สื่อ Website ร้อยละ 0.12 ระบุว่า สื่อ YouTube และสื่อนิตยสารในสัดส่วนที่เท่ากัน และร้อยละ 0.06 ระบุว่า สื่อแอปพลิเคชัน Instagram

เมื่อถามถึงการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเพื่อขอรับสิทธิ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” (บัตรผู้มีรายได้น้อย) จากรัฐบาล ของตัวอย่างที่ระบุว่าเคยรับรู้หรือได้ยินข่าวสารของประชาชนเกี่ยวกับ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” (บัตรผู้มีรายได้น้อย) พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 67.27 ระบุว่า ได้ลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” (บัตรผู้มีรายได้น้อย) และร้อยละ 32.73 ระบุว่า ไม่ได้ลงทะเบียน สาเหตุเพราะว่าไม่ทราบข้อมูลที่ละเอียดไม่รู้ว่าต้องไปลงทะเบียนที่ไหน ทำให้ลงทะเบียนไม่ทัน อีกทั้งคุณสมบัติไม่ตรงตามเงื่อนไข ขณะที่บางส่วนระบุว่าไม่ได้เดือดร้อนอะไร อยากให้คนที่ไม่ลำบากมากกว่า

ส่วนความเข้าใจเกี่ยวกับ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” (บัตรผู้มีรายได้น้อย) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 67.10 ระบุว่า ไม่แน่ใจ ในประเด็น “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” (บัตรผู้มีรายได้น้อย) เพื่อลดภาระค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและค่าเดินทางของผู้มีรายได้น้อย รองลงมา ร้อยละ 21.78 ระบุว่า ไม่เข้าใจ และร้อยละ 11.12 ระบุว่า เข้าใจ

ด้านผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ได้รับวงเงินซื้อสินค้า 300 บาท/เดือนเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ซื้อสินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรมจากร้านธงฟ้าประชารัฐและร้านอื่น ๆ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 49.50 ระบุว่า ไม่แน่ใจ รองลงมา ร้อยละ 37.14 ระบุว่า ไม่เข้าใจ และร้อยละ 13.36 ระบุว่า เข้าใจ

ด้านผู้มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี ได้รับวงเงินซื้อสินค้า 200 บาท/เดือน เพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ที่จำเป็น ซื้อสินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรมจากร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านอื่น ๆ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.15 ระบุว่า ไม่แน่ใจ รองลงมา ร้อยละ 40.49 ระบุว่า ไม่เข้าใจ และร้อยละ 15.36 ระบุว่า เข้าใจ

ด้านผู้มีรายได้น้อยได้รับวงเงินส่วนลดค่าก๊าซหุงต้มจากร้านค้าที่กระทรวงพลังงานกำหนดเป็นเงิน 45 บาท/คน/3เดือน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.91 ระบุว่า ไม่เข้าใจ รองลงมา ร้อยละ 39.73 ระบุว่า ไม่แน่ใจ และร้อยละ 15.36 ระบุว่า เข้าใจ

ด้านผู้มีรายได้น้อยได้รับเงินค่าโดยสารรถไฟ เป็นเงิน 500 บาท/คน/เดือน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 48.26 ระบุว่า ไม่แน่ใจ รองลงมา ร้อยละ 37.49 ระบุว่า ไม่เข้าใจ และร้อยละ 14.25 ระบุว่า เข้าใจ

ด้านผู้มีรายได้น้อยได้รับเงินค่าโดยสารรถ บขส. เป็นเงิน 500 บาท/คน/เดือน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.97 ระบุว่า ไม่แน่ใจ รองลงมา ร้อยละ 37.32 ระบุว่า ไม่เข้าใจ และร้อยละ 14.71 ระบุว่า เข้าใจ

ผู้มีรายได้น้อยที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้รับเงินค่าโดยสารรถเมล์/รถไฟฟ้า เป็นเงิน 500 บาท/คน/เดือน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.62 ระบุว่า ไม่แน่ใจ รองลงมา ร้อยละ 37.02 ระบุว่า ไม่เข้าใจ และร้อยละ 15.36 ระบุว่า เข้าใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจาก “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” (บัตรผู้มีรายได้น้อย) ในประเด็น “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” (บัตรผู้มีรายได้น้อย) เพื่อลดภาระค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและค่าเดินทางของผู้มีรายได้น้อย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 75.98 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 14.56 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 9.46 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

ประเด็นผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ได้รับวงเงินซื้อสินค้า 300 บาท/เดือนเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ซื้อสินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบ เพื่อเกษตรกรรมจากร้านธงฟ้าประชารัฐและร้านอื่น ๆ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 69.46 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 21.82 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 8.72 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

ประเด็นผู้มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี ได้รับวงเงินซื้อสินค้า 200 บาท/เดือนเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ซื้อสินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบ เพื่อเกษตรกรรมจากร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านอื่น ๆ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.83 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 27.57 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 9.60 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

ประเด็นผู้มีรายได้น้อยได้รับวงเงินส่วนลด ค่าก๊าซหุงต้ม จากร้านค้าที่กระทรวงพลังงานกำหนดเป็นเงิน 45 บาท/คน/3เดือน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.42 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 26.60 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 7.98 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ ประเด็นผู้มีรายได้น้อยได้รับเงินค่าโดยสารรถไฟ เป็นเงิน 500 บาท/คน/เดือน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.01 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 29.96 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 8.03 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

ประเด็นผู้มีรายได้น้อยได้รับเงินค่าโดยสารรถ บขส. เป็นเงิน 500 บาท/คน/เดือน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.89 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 29.08 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 8.03 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ ประเด็นสำหรับ ผู้มีรายได้น้อยที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้รับเงินค่าโดยสารรถเมล์/รถไฟฟ้า เป็นเงิน 500 บาท/คน/เดือน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 68.04 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 22.31 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 9.65 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

เมื่อถามถึงความกังวลของประชาชนเกี่ยวกับปัญหาที่รัฐบาลจะประกาศใช้ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” (บัตรผู้มีรายได้น้อย) วันที่ 1 ตุลาคม 2560 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 75.81 ระบุว่า ไม่มีความกังวล รองลงมา ร้อยละ 6.57 ระบุว่า ร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านค้าอื่น ๆ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดมีจำนวนน้อย ร้อยละ 3.14 ระบุว่า ความไม่เท่าเทียมในการได้รับสิทธิค่าเดินทางของคนต่างจังหวัดกับคนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ร้อยละ 2.52 ระบุว่า การร้องเรียนเรื่องผู้ที่จนไม่จริงได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ผู้ยากจนจริงบางคนกลับไม่ได้รับ (เช่น ไม่ได้ไปลงทะเบียน เป็นต้น) ร้อยละ 1.95 ระบุว่า ไม่เข้าใจวิธีการใช้บัตร ร้อยละ 1.86 ระบุว่า เงินค่าครองชีพ และค่าเดินทางที่ได้รับจากรัฐบาลอาจเข้าล่าช้ากว่ากำหนด, รัฐบาลอาจมีงบประมาณไม่เพียงพอในอนาคต ในสัดส่วนที่เท่ากัน

ร้อยละ 0.95 ระบุว่า การสวมสิทธิลงทะเบียนในชื่อผู้อื่นและได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาใช้ ร้อยละ 0.76 ระบุว่า ร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านค้าอื่น ๆ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด บางร้านไม่มีเครื่องรูดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ร้อยละ 0.38 ระบุว่า รถโดยสารที่มีเครื่องรูดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีจำนวนไม่เพียงพอ, กลัวใช้สิทธิ์ได้ไม่เต็มที่, กังวลว่าจะได้รับจริงหรือไม่

ร้อยละ 0.33 ระบุว่า จะมีการร้องเรียนจากกลุ่มที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านต่างจังหวัด แต่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ทำให้ไม่ได้รับสิทธิค่าใช้จ่ายในการเดินทาง, การใช้บัตรยังไม่เหมาะกับผู้สูงอายุ ยังใช้ไม่เป็น, จัดสวัสดิการเป็นเงินสดใช้ประโยชน์ได้มากกว่า

ร้อยละ 0.29 ระบุว่า การนำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของผู้อื่นมาใช้, คนต่างจังหวัดลำบากในการใช้บัตร, ปัญหาเกี่ยวกับระบบ IT เช่น ระบบล่ม มีการแฮกข้อมูลส่วนตัว เป็นต้น ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 0.24 ระบุว่า การนำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปใช้ในสิ่งที่ไม่จำเป็นแก่ชีวิต เช่น เหล้า บุหรี่ เป็นต้น

ร้อยละ 1.33 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ การขายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแก่ผู้อื่น, กลัวจะไม่ได้รับบัตร, กลัวจะไม่ได้รับเงินจริง ๆ, กลัวใช้ไม่ได้จริง, กลัวว่าได้มาแล้วจะไม่ได้ใช้, กลัวรายชื่อตกหล่น, จำนวนเงินในบัตรน้อยเกินไป, สวัสดิการที่ออกมาคนในเมืองอาจจะได้ใช้แต่คนชนบทไม่ได้ใช้, กลัวจะได้สวัสดิการไม่ครบตามที่แจ้ง, กลัวจะได้สิทธิ์ไม่ทั่วถึง, กลัวมีผลกระทบด้านเศรษฐกิจ, เปลี่ยนค่ารถไฟและรถเมล์เป็นค่าน้ำค่าไฟและ อยู่ต่างจังหวัดกลัวจะไม่ได้รับเงิน

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโครงการ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” (บัตรผู้มีรายได้น้อย) โดยภาพรวม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 80.13 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 14.85 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 5.02 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการเพิ่มสวัสดิการรัฐในด้านอื่น ๆ ของรัฐบาล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 26.91 ระบุว่า สวัสดิการด้านผู้สูงอายุ/ผู้เกษียณอายุ รองลงมา ร้อยละ 26.17 ระบุว่า สวัสดิการด้านสาธารณูปโภค บริการสาธารณะที่จัดทำ เพื่ออำนวยประโยชน์แก่ประชาชนในสิ่งอุปโภคที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต เช่น ไฟฟ้า ประปา การเดินรถประจำทาง โทรศัพท์ เป็นต้น

ร้อยละ 16.91 ระบุว่า สวัสดิการด้านค่ารักษาพยาบาลและสถานพยาบาล ร้อยละ 10.99 ระบุว่า สวัสดิการด้านเกษตรกรรม เช่น ราคาผลผลิตทางการเกษตร และการลงทุนเพื่อการเกษตร เป็นต้น ร้อยละ 5.80 ระบุว่า ด้านการลดภาระค่าครองชีพ ร้อยละ 5.68 ระบุว่า สวัสดิการด้านการศึกษา/ค่าเล่าเรียน/ทุนการศึกษา ร้อยละ 5.06 ระบุว่า การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ว่างงาน/ไม่มีรายได้

ร้อยละ 2.59 ระบุว่า ด้านผู้พิการ ร้อยละ 2.22 ระบุว่า การสร้างอาชีพ/การจัดสรรที่ดินทำกิน สำหรับผู้มีรายได้น้อย ร้อยละ 1.23 ระบุว่า สวัสดิการสำหรับผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 1.11 ระบุว่า ด้านการสงเคราะห์บุตร/เลี้ยงดูบุตร ร้อยละ 0.99 ระบุว่า การช่วยเหลือด้านที่พักอาศัย และร้อยละ 0.74 ระบุว่า การช่วยเหลือเรื่องหนี้สินนอกระบบ

โพลเผยคนรับรู้ข้อมูลบัตรสวัสดิการรัฐ แต่ยังไม่แน่ใจรายละเอียด